(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ค.61 โต 3.2% ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 จากส่งออกฟื้นตามภาวะศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2018 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค.61 ขยายตัวขึ้น 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 จากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้ 5 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-พ.ค.) MPI ขยายตัว 3.8% จาก 0.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนพฤษภาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ยา Hard Disk Drive และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ในเดือนเดือนพฤษภาคม สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัว ได้แก่

รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.89 จากรถปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 cc. เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่กลับมาฟื้นตัว สำหรับเครื่องยนต์รถยนต์ขยายตัวในเครื่องยนต์แก๊สโซลีนและเครื่องยนต์ดีเซล ตามความต้องการใช้ที่สอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ภายในประเทศและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.93 จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้มีผลผลิตมากกว่าปีก่อน

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ยา เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.43 จากยาแคปซูลและยาเม็ดเป็นหลัก จากการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตลาดที่มีการเปิดตลาดใหม่ (เช่น ฮ่องกง) และตลาดในประเทศ

คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.92 โดยเฉพาะ HDD ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่บริษัทแม่ได้เพิ่มการผลิตในไทย รวมถึงความต้องการในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกสินค้าเช่น PCBA Semiconductor จากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับในเดือนมิถุนายน ปัจจัยที่จะมีผลต่อดัชนี MPI ที่ต้องติดตามได้แก่ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกที่มีแนวโน้มขาขึ้น แต่เบื้องต้นในส่วนของไทยเองคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติล่าสุดคงไว้ที่ 1.50% จึงเป็นผลบวกมากกว่า ขณะเดียวกันการที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้วจะเป็นบวกต่อการลงทุนของไทยมากขึ้น

นายณัฐพล กล่าวถึงการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า จะมีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 จากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ Hard Disk Drive จากการได้รับยอดผลิตเพิ่มขึ้นจากบริษัทแม่ของผู้ผลิตบางราย เนื่องจากการปิดฐานที่สิงคโปร์และจีน และย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย ส่วน IC คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เริ่มฟื้นตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 530,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.61 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 220,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศขยายตัว ประกอบกับสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก ส่วนการส่งออกทรงตัว เนื่องจากการกีดกันการค้าจากประเทศเวียดนาม

อุตสาหกรรมอาหาร จะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 จากปัจจัยบวกอย่างผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเพิ่มพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย อาทิ ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และอ้อย เป็นต้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตยางรถยนต์ในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 1.66 ในส่วนของการผลิตยางรถจักรยานยนต์/จักรยานคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.10 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้นทั้งในประเทศและตลาดส่งออกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของ คู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืนจากใยสังเคราะห์ ไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

"ที่ผ่านมาการแข่งขันฟุตบอลโลกส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และทีวี แต่ตอนนี้สินค้า 2 ประเภทนี้มีการย้ายฐานการผลิตไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนอุตสาหกรรมอาหารยังเป็นบวกแต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก"นายณัฐพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ