ครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงผลิตน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศ-โครงการสายส่ง 115 kV รองรับสุวรรณภูมิเฟส 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2018 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการก่อสร้างโรงผลิตน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศภายในอาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) วงเงิน 990 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ 950 ล้านบาท และที่เหลืออีก 40 ล้านบาท จะมาจากเงินรายได้ของ DCAP เอง

"เมื่อจะมีการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี ก็ต้องมีการดำเนินการหลายอย่าง เช่น การสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน ซึ่งก็ต้องมีความต้องการใช้ไฟฟ้า และระบบแอร์เพิ่มมากขึ้น" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

โดยการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 นี้จำเป็นต้องใช้น้ำเย็นในระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้นอีก 9,000 ตันความเย็น ในขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำเย็นเหลืออยู่ 7,340 ตันความเย็น จึงทำให้มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงผลิตน้ำเย็นสำหรับใช้ในระบบปรับอากาศเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 12,000 ตันความเย็น

ส่วนความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอีก 38.5 เมกะวัตต์ เพื่อการจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงผลิตน้ำเย็นนั้น ที่ประชุม ครม.เห็นว่าการลงทุนก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่คุ้มค่า จึงอนุมัติให้มีการใช้งบประมาณจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยเป็นการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ จากจุดเชื่อมโยงไฟฟ้าแรงดันสูงของการไฟฟ้านครหลวง ที่ถนนบางนา-ตราด เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมทั้งการจัดสร้างอุปกรณ์รับไฟฟ้า และอาคารผลิตน้ำเย็น ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 990 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ