"อนุสรณ์"มองประเทศไทยจะยังไม่เผชิญภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินแบบปี 40 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 1, 2018 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและวิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ว่า ประเทศไทยจะยังไม่เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 จนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจการเงินค่อนข้างดี อย่างน้อยเราจะไม่เจอกับภาวะวิกฤติแบบปี 2540 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชี เดินสะพัดในระดับ 45-47 พันล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง

ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤติซ้ำรอยปี 2540 จะไม่เกิดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าหากเราควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ดี ได้แก่ การก่อหนี้และการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะหนี้สินต่างประเทศ ต้องติดตามการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่หรือไม่ ส่วนการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินเอกชนและตลาดการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีไม่น่ามีปัญหาอะไร ที่น่าเป็นห่วงจะเป็นพวกฟินเทค การเก็งกำไรใน Cryptocurrency สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์และพวก non-bank ทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสในการเกิดวิกฤติแบบปี 2540 มีน้อยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังในระยะต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปรายได้ภาครัฐทั้งระบบภาษีและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการไม่กระจายของรายได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลใกล้ชิด และยังมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังค่อนข้างสูงอยู่

การเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแต่เป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ต้องรอดูว่า ระบอบการเมืองลักษณะแบบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและภาคการลงทุนอย่างไรบ้าง การจะก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความถดถอยและกับดักรายได้ระดับปานกลางรวมทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างแท้จริงและการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตร่วมกันของทุกคน และควรดำเนินการภายใต้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตยจะดีที่สุด ความขัดแย้งโดยรวมและในระยะยาวจะน้อยที่สุด จะสมานฉันท์ปรองดองมากที่สุด สภาวะความเหลื่อมล้ำซึ่งมีอยู่หลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (รายได้ การถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ระบบสวัสดิการ) ด้านสิทธิและอำนาจ ด้านโอกาส ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปได้บั่นทอนศักยภาพ โอกาสและความสามารถของประชาชนไม่ให้มีพลังในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศอาเซียนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติแบบปี 2540 คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมี ตุรกี อาร์เจนตินา และ อิตาลี ที่มีโอกาสเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ