รายงาน กนง.ระบุความจำเป็นใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเริ่มลดลง-ขึ้นดบ.นโยบายสร้างpolicy spaceในอนาคตจะสำคัญมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2018 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 ซึ่งการประชุมในรอบนั้น คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในภาวะปัจจุบัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็งต่อเนื่อง และมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับสูงขึ้นและเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และแนวโน้มเงินเฟ้อสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต

โดยการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน แต่ภาระหนี้ครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้างหลายด้าน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือน และการจ้างงานในภาพรวม ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องแก้ไขด้วยนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงจากด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการโต้ตอบจากประเทศคู่ค้า รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ กรรมการบางส่วนเห็นควรให้ติดตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตสาขาต่าง ๆ เพื่อประกอบการประเมินความยั่งยืนของการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยและเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยหลักเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เร่งขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนโดยรวมทรงตัว คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนจากราคาอาหารสดที่ผันผวนสูงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่เป็นไปตามที่คาดได้

3. เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางต่อระบบการเงินได้ โดยประเด็นที่คณะกรรมการฯ ติดตาม ได้แก่ (1) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risk) (2) สินทรัพย์และเงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังขยายตัวสูง แม้จะชะลอลงบ้างหลังการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบางส่วน (3) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs และ (4) ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ประกอบการยังคงลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสถาบันการเงินแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกัน (preventive) ไม่ให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในวงกว้าง และต้องใช้ควบคู่กับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเฉพาะจุด (macroprudential measures)

ด้านภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ พบว่าเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มขยายตัวดีจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ แม้จะชะลอลงบ้างจากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแรงสนับสนุนสำคัญจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับเพิ่มขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติโดยเร็ว ซึ่งอาจกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 มากกว่าที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของนโยบายและการเจรจาทางการค้าอย่างใกล้ชิด" รายงานการประชุม กนง.ระบุ

สำหรับภาวะตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดย เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเทียบกับเกือบทุกสกุล เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้จนถึงฤดูร้อนของปีหน้า ซึ่งนานกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ ตลาดกังวลเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

ด้านเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สรอ. อ่อนค่าลงตามแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สรอ.ที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นส่วนใหญ่ โดยเงินบาทเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินภูมิภาคบางสกุลได้อ่อนค่าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งบางธนาคารกลางได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าลงได้บ้าง สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน

"ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงที่นักลงทุนประเมินเกี่ยวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ปรับสูงขึ้น ตลอดจนทิศทางราคาน้ำมัน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและนัยต่ออัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละมิติอย่างใกล้ชิด" รายงานกนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ