(เพิ่มเติม1) กกพ.มีมติตรึงค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค.61 ที่ -15.90 สต./หน่วยหลังนำเงินสะสมช่วยพยุง ,โครงสร้างค่าไฟใหม่เสร็จปลายปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 5, 2018 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกกพ.มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.61 ที่ระดับ -15.90 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทจะอยู่ที่ 3.5966 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดก่อนหน้า (พ.ค.-ส.ค.) โดยกกพ.ได้นำเงินค่าเอฟทีสะสม มาพยุงค่าเอฟทีในรอบนี้ หลังค่าเอฟทีในส่วนของเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นถึง 7.46 สตางค์/หน่วย จากแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น และการอ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

"ราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอย่างเช่น ก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นถึง 17.54 บาท/ล้านบีทียู และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าเอฟทีในส่วนของเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 7.46 สตางค์/หน่วย แต่เนื่องจากมีเงินสะสมมาตั้งแต่กลางปี 61 จึงนำมาช่วยตรึงค่าเอฟทีในงวดนี้ และเก็บส่วนหนึ่งไว้ไปช่วยพยุงค่าเอฟทีในงวดปี 62 ไม่ให้สูงขึ้นมากจนเกินไป เพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้ใช้ไฟฟ้า"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.61 ดังนี้

1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากประมาณการที่ใช้คำนวณค่าเอฟทีในช่วง พ.ค.-ส.ค. 61 จาก 32.05 บาท/เหรียญสหรัฐ เป็น 32.14 บาท/เหรียญสหรัฐ ตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริงเฉลี่ยวันที่ 1 – 31 พ.ค.61

2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 61 เท่ากับ 62,046 ล้านหน่วย ลดลงจากช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 61 (ปรับปรุงค่าจริงเดือนพ.ค.61) เท่ากับ 3,781 ล้านหน่วย คิดเป็น 5.74%

3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ก.ย. -ธ.ค. 61 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.55% รองลงมาเป็นรับซื้อไฟฟ้าจากลาว 14.01% ลิกไนต์ 9.57% และถ่านหินนำเข้า 6.94%

4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมค่าผ่านท่อ อยู่ที่ 279.94 บาท/ล้านบีทียู ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 17.54 บาท/ล้านบีทียู และคาดว่าจะไม่มีการใช้น้ำมันเตาในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.61 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.76 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 1.21 บาท/ลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,526.73 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้น 32.13 บาท/ตัน และราคาลิกไนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 693 บาท/ตัน ไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ในส่วน Adder และ FiT ในเดือน ก.ย. -ธ.ค. 61 ได้ปรับเพิ่มจาก 15,072.28 ล้านบาท ในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 61 (ปรับปรุงค่าจริงเดือน พ.ค. 61) มาอยู่ที่ 15,751 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 678.72 ล้านบาท แต่ด้วยประมาณการจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย. -ธ.ค. 61 ลดลงจากงวดปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วจะทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 61 ซึ่งอยู่ที่ 27.88 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้นจากงวด พ.ค.-ส.ค. 61 (ปรับปรุงค่าจริงเดือน พ.ค. 61) ซึ่งอยู่ที่ 25.00 สตางค์/หน่วย ประมาณ 2.88 สตางค์/หน่วย

นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับการผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (IPS) ที่เข้ามาในระบบมากขึ้น ล่าสุดมีประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ เริ่มเห็นผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตเพียง 0.2% เท่านั้น เทียบกับปกติจะเติบโต 3-4% ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นอกจากนี้ กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพยากรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ ลม ,พลังงานแสงอาทิตย์ ว่าจะเข้าระบบในแต่ละวันปริมาณเท่าใดเพื่อวางแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รองรับ โดยซื้อข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเกิดกรณีฝนตก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตไฟฟ้าได้เท่าใด เพื่อให้ กฟผ. วางแผนเดินเครื่องได้อย่างถูกต้อง ส่วนการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ของประเทศคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ