นบข.ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ฤดูการผลิต 61/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ด้านการตลาด 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ แบ่งเป็น โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อแก่เกษตกรและสถาบันเกษตรกร ทั้งกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตั้งเป้า 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อน ตันละ 1,000 บาท และภายหลัง 500 บาท

ทั้งนี้ มีโครงการสินเชื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติกรอบวงเงิน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.61 จำนวน 250 ล้านบาท โดยตั้งเป้าเกษตรกรรายคนและสถาบันเกษตกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ราย โดยกำหนดวงเงินกู้ในส่วนเกษตกรรายคนไม่เกินรายละ 150,000 บาท และสถาบันเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับการกำหนดวงเงินสินเชื่อ จะพิจาณราจากราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และราคาข้าวเปลือกที่สะท้อนจากราคาส่งออกที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลกได้ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 11,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี1 8,900 บาท/ตัน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 - 28 ก.พ.62 สำหรับภาคใต้ถึง 31 ก.ค.62

ทั้งนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยช่วยตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือ ไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท (จากปีที่ผ่านมาช่วยเหลือไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ) โดยรายได้ที่เกษตรกรได้รับ ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 17,050 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 15,450 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 12,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี1 12,900บาท/ตัน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 - 28 ก.พ.62 สำหรับภาคใต้ถึง 31 ก.ค.62

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ตั้งเป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรรับภาระดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 1 ต.ค.61 - 31 ธ.ค.62

3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ซึ่งทางโรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตกรในช่วง 1 พ.ย.61 - 31 มี.ค.62 ส่วนภาคใต้ ช่วง 1 ม.ค.- 30 มิ.ย.62

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ซึ่งเมื่อมิ.ย.61 รัฐบาลได้นำข้าวในสต็อกออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านตัน มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยอยู่ระกว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน กลุ่มที่ 2 ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท และการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ในกลุ่มที่ 3 ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 5.2 แสนตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท ส่วนปริมาณข้าวคงเหลือที่จะนำออกมาระบายสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561 ปริมาณรวม 69,000 ตัน แบ่งเป็นข้าวกลุ่มที่ 2 47,00 ตัน และกลุ่มที่ 3 22,000 ตัน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ข้าวว่า ในส่วนของการส่งออกข้าวไทยยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายและมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติม เป็นผลจากความต้องการข้าวในตลาดโลกยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเอเชีย รวมถึงแอฟริกา ทำให้มีกำลังซื้อที่รองรับข้าวที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้

ส่วนการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้กับรัฐบาลจีน ได้ดำเนินการส่งมอบข้าว งวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตันได้แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 ปริมาณ 1 แสนตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ