ธ.สแตนดาร์ดฯ มองต่าง คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ 2 ครั้ง หลังส่งสัญญาณในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 20, 2018 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในการประชุมวันที่ 19 ก.ย. 61 และในช่วงไตรมาส 4/61 โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในสิ้นปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2% จากปัจจุบันที่ 1.5% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับ 1.5% มาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี และในการประชุม กนง.เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้ส่งสัญญาณโอกาสการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

"ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงประมาณการเดิมที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ในเดือนกันยายน และอีก 0.25% ในไตรมาส 4 ของปี 2561 ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากตลาดที่มองว่า ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ถึงสิ้นปี"นายทิมกล่าว

ทั้งนี้ กนง.ได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นระยะเวลานาน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งทำให้กนง.อยู่ระหว่างการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งธนาคารมองว่าในช่วงก่อนถึงเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ จะมีตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมามาก เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 2/61 ของสภาพัฒน์ฯ และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ซึ่งหากตัวเลขต่างๆ ออกมาดี คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงการประชุมเดือนก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่จะมีการเผยแพร่ก่อนการประชุมกนง. (19 กันยายน) จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของกนง.

"เราอาจจะมองการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่างจากสถาบันอื่น ที่ส่วนใหญ่มองว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปีนี้ หรือยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เราคิดว่าการประชุมกนง.เดือนก.ย.มีความน่าสนใจค่อนข้างมาก เพราะเป็นช่วงที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของกนง. และในการประชุมเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา กนง.ได้มีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยออกมาบ้างแล้ว และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ทยอยปรับขึ้นกันไปแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในเดือนก.ย.นี้ และไตรมาส 4/61 โดยที่ตอนนี้เราเริ่มเห็นสถาบันการเงินที่มีการปล่อยสินเชื่อบ้าน เริ่มออกมาบอกบ้างแล้วว่าจะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้"นายทิม กล่าว

สำหรับค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารได้ปรับประมาณการใหม่เป็นอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 29.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว เพราะการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากประเด็นสงครามการค้า แต่หากประเด็นสงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย มองว่ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าในรอบ 2 ปี ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 ธนาคารยังคงประมาณการ GDP ไว้ที่ขยายตัว 4.3% จากปัจจัยของการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี และคาดว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อย และยังมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4/61 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น หลังจากที่เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงไปมากในเดือนก.ค. ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยโตเพียง 5% จากเดือนมิ.ย.ที่โต 15% ซึ่งสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่มาท่องเที่ยวในไทยมีสัดส่วน 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่ธนาคารคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายได้และเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาในช่วงไฮซีซั่นนี้ ขณะเดียวกัน การกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มเห็นการเปิดประมูลออกมาบ้างแล้ว จะเป็นแรงหนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ ประกอบกับความชัดเจนในการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนก.ย.นี้ จะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเห็นกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาในไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมากระแสเงินทุนได้ไหลออกไปมากแล้ว "ตอนนี้การที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาได้ คือ ประเทศไทยต้องมี Story ใหม่ๆ เข้ามาสร้างความน่าสนใจ และการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบการคมนาคม โดยที่ช่วงที่ผ่านมายังไม่มีนักลงทุนต่างชาติที่เป็นสถาบันรายใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนไนไทยมาก เพราะเรายังไม่มี Story ที่น่าสนใจพอ และเขายังขาดความเชื่อมั่น แต่หากการลงทุนเริ่มชัดเจนขึ้น การเลือกตั้งไทยชัดเจนอีก จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ๆ เข้ามาได้"นายทิม กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ