พาณิชย์ ยันเจรจา RCEP/CPTPP ด้วยความรอบคอบ-โปร่งใส เปิดกว้างรับฟังความเห็นประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 23, 2018 11:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกำหนดท่าทีในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยในส่วน CPTPP เตรียมนัดคณะทำงานฯ หารือครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคมนี้ พร้อมเตรียมเดินสายรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ หากมีประเด็นที่ภาคสังคมกังวล โดยจะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ส่วนในเวที RCEP ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในช่วงนี้ ได้เปิดวาระพิเศษรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร มีวาระพิเศษ 2 ช่วง ที่เปิดให้หัวหน้าคณะเจรจา RCEP จาก 16 ประเทศ ได้พบกับผู้แทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของ RCEP รวมแล้วกว่า 40 องค์กร โดยมีผู้แทนภาคประชาสังคมของไทยเข้าร่วมด้วย อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในช่วงบ่ายของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการเจรจา RCEP ในหลากมิติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนนโยบายที่ได้รับจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ที่เน้นการหาตลาดและช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าของไทย เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) กว่า 20 ราย ได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและจำหน่ายให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน จาก 16 ประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตร หัตถกรรม และ GI ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมให้ได้เห็นศักยภาพสินค้าไทย และขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว

ส่วนกรณีที่มีภาคประชาสังคมแสดงความกังวลต่อการที่ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP นั้น นางอรมน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 25 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้มีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีมติมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และจัดหารือรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ และต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561

นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 โดยจะเชิญผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล มาตรการเยียวยาที่ต้องการจากรัฐบาลหากไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งกรมฯ จะรวบรวมความเห็นของทุกภาคส่วน เป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยยังมีเวลาในการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะกว่าความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ และเปิดรับสมาชิกใหม่ คาดว่าจะประมาณช่วงต้นปี 2562

ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้จัดจ้างสถาบันวิจัยซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่มีความเป็นกลาง ดำเนินการศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP เพิ่มเติมจากที่เคยจ้างศึกษาไว้แล้วเมื่อครั้งยังเป็นความตกลง TPP ซึ่งมีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในการขยายการค้าการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่ภาคประชาสังคมมีความกังวล เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ในการเจรจาจะยึดหลักการบนพื้นฐานของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (TRIPs) รวมทั้งความยืดหยุ่นที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับ โดยเฉพาะในส่วนของการสาธารณสุข การเข้าถึงยาของประชาชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมของเกษตรกร ตลอดจนสิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล และในส่วนของประเด็นการคุ้มครองการลงทุนของ CPTPP ได้รับการยืนยันจากสมาชิก CPTPP ว่ารัฐบาลของสมาชิก CPTPP ยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป สำหรับในส่วนของการเจรจา RCEP ไม่มีประเทศใดผลักดันเรื่องนี้ในการเจรจา โดยรัฐบาลยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ตามที่เห็นสมควรเช่นกัน

ส่วนประเด็นข้อกังวลอื่นๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรอบ CPTPP ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ในกรอบ RCEP ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเจรจาเช่นกัน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดบริการของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ และพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ กรมฯ พร้อมรับฟังและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายประกอบการตัดสินใจต่อไป โดยในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่ประชุม RCEP ตกลงให้ประเด็นนี้เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเท่านั้น

"ในการเจรจา FTA ทุกกรอบได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และในการจัดทำหนังสือสัญญาที่จะมีผลผูกพันประเทศไทยในอนาคต ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ CPTPP เป็นเรื่องที่ไทยสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งยังมีเวลา เพราะกว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบัน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2562 ทำให้ไทยยังมีเวลาศึกษาผลดี ผลเสียอย่างรอบด้าน ส่วนความตกลง RCEP ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หากการเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้ กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการขอความเห็นชอบการลงนามจากรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต่อไป" นางอรมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ