(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย.61 โต 4.7% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2018 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน มิ.ย.61 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัว 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สศอ.เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน มิ.ย.61 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯในเดือน มิ.ย.61 สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีมูลค่า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูงสุดในรอบ 40 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 42 เดือน ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 2/61 ขยายตัว 3.6% ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัว 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 0.5% และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.04%

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนมิ.ย.61 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัว 11.59% จากรถปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 ซีซี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ยอดจำหน่ายในประเทศขยายตัว 22.88% ส่วนการส่งออกขยายตัว 5.81%

น้ำตาลทราย ขยายตัว 78.9% จากการปิดหีบการผลิตช้ากว่าปีก่อน เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัว 12.97% จากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 45.82% เนื่องจากมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาด ส่วนการส่งออกขยายตัว 15.52% จากลูกค้า CLMV

เม็ดพลาสติก ขยายตัว 8.03% จากสินค้า PP และ LLDPE เนื่องจากปีก่อนมีจำนวนวันปิดซ่อมบำรุงมากกว่าปีนี้

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 6.0% ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก โดยเฉพาะ IC ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้พัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในประเทศขยายตัว 1.33% สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 9.45% ตามแนวโน้มความต้องการการใช้ที่สูงขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอขยายตัว 5.83% ในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 9.6% โดยเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้น 19.0% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ซึ่งเพิ่มขึ้น 53.2% จากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น 1.1% โดยเหล็กเส้นกลมเพิ่มขึ้น 11.0% เป็นผลจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ