พาณิชย์ เผยสินค้าเกษตรไทยรับอานิสงส์จากสงครามการค้าส่งออกไปจีนเพิ่ม ทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2018 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะที่หลายประเทศได้ใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากหลายประเทศ โดยได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการจากสหรัฐฯ เช่นกัน ได้แก่ จีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ หลายรายการในอัตรา 25% เช่น ข้าว, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลีและเมสลิน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, เมล็ดซอร์กัม, แป้งข้าวโพด, แป้งธัญพืช, ถั่ว, ผักและผลไม้ และกากเหลือจากการผลิตแป้ง (สตาร์ช) ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ 25% เช่น ข้าว, ข้าวโพดหวาน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วแดง ขณะที่ตุรกีขึ้นภาษีนำเข้าข้าวและถั่วประเภทต่างๆ จากสหรัฐฯ 20% และ 5% ตามลำดับ และแคนาดาขึ้นภาษีนำเข้ากาแฟคั่วจากสหรัฐฯ 10%

ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าว สนค.ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทยแล้ว พบว่า สินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตแป้ง, ข้าว, ผลไม้สดและแห้ง โดยเฉพาะส้ม และกากเหลือจากการผลิตแป้ง เศษที่ได้จากการต้มกลั่น มีโอกาสทำตลาดมากที่สุด เพราะเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯเกือบทั้งหมด โดยในปี 60 จีนนำเข้า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออก 3 ล้านเหรียญฯ โดยส่งออกไปลาวเกือบทั้งหมด ดังนั้นไทยน่าจะกระจายสินค้าไปตลาดจีนมากขึ้นได้

นอกจากนี้ การที่จีนขึ้นภาษีผลไม้นำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น เชอรี่ ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล และพลัม ทำให้ผลไม้จากสหรัฐฯมีราคาสูงขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคจีนอาจหันมาเลือกบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น เช่น มังคุด มะม่วง และสับปะรด เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดหวาน โดยปี 60 อียูนำเข้าข้าวโพดหวาน 148 ล้านเหรียญฯ เป็นการนำเข้าจากประเทศอียู 136 ล้านเหรียญฯ สัดส่วน 95% นำเข้าจากสหรัฐฯ 234,000 เหรียญฯ และไทย 84,000 เหรียญฯ ขณะที่ไทยส่งออกไปโลก 25 ล้านเหรียญฯ จึงยังมีศักยภาพส่งออกไปอียูได้มากขึ้น แต่ไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากอียูด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องระวังสินค้าจากสหรัฐฯ ที่อาจไหลเข้ามา ได้แก่ ถั่วเหลือง, ข้าวสาลีและเมสลิน, แอปเปิ้ล และลูกแพร์ โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งในปี 60 จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ 14,000 ล้านเหรียญฯ การขึ้นภาษีของจีนอาจทำให้สหรัฐฯต้องส่งออกถั่วเหลืองไปประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะไทย ที่แต่ละปีมีความต้องการนำเข้าถั่วเหลืองสูงมาก โดยปี 60 ไทยนำเข้า 2.7 ล้านตัน

"ภาพรวม สนค.คาดการณ์ว่า สงครามการค้าจะทำให้เกิดการปรับรูปแบบโครงสร้าง และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ เกิดการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการค้าในระยะยาว แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและเกษตรกรภายในประเทศ" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ