ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดนทท.จีนเที่ยวไทยปีนี้ยังมีแนวโน้มสดใส ทั้งปีแตะ 10.9 ล้านคน แม้ก.ค.-ส.ค.ชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2018 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปี 61 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะมีโอกาสสูงถึง 10.9 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากที่คาดว่าจะมีจำนวน 10.6 ล้านคน) เติบโต 11.2% จากที่ขยายตัว 12.0% ในปี 60 โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมีจำนวน 6.86 ล้านคนแล้ว และคาดรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 602,010 ล้านบาท เติบโต 14.8% จากที่เติบโต 15.8% ในปี 60 โดยในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ ทิศทางนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะยังมีทิศทางที่ดี แม้จะมีการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเดือนก.ค.และส.ค. ก็ตาม

จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในเดือนก.ค. 61 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยอ่อนตัวลงเล็กน้อยประมาณ 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือมีจำนวน 9.3 แสนคน ขณะที่การใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวในไทยมีมูลค่าประมาณ 51,380.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยอาจจะมีโอกาสชะลอลงเล็กน้อยในเดือนส.ค. 61 แต่ภาครัฐมีการทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจีน กอปรกับในส่วนของภาคธุรกิจทั้งโรงแรมและที่พัก รวมถึงธุรกิจค้าปลีกมีการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงของวันชาติจีนในช่วงต้นเดือนต.ค.ของทุกปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากผลสำรวจมุมมองของนักท่องเที่ยวจีนต่อจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชีย พบว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชียคิดเป็นสัดส่วน 27.0% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ตอบแบบสอบถามได้เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชียทั้งอันดับ 1 - 3 ขณะที่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชียรองลงมา คือ ญี่ปุ่น (18.8%) มัลดีฟส์ (14.5%) ฮ่องกง (14.3%) และสิงคโปร์ (9.6%)

จากผลสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยกว่า 53.0% เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอง หรือ กลุ่ม FIT มีสัดส่วน 47.0% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเป็นครั้งแรกคิดเป็นสัดส่วน 78.0% ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทย หรือกลุ่ม Revisit คิดเป็นสัดส่วน 22.0% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม

โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรกส่วนใหญ่จะรู้จักประเทศไทยจากคำแนะนำของบริษัทนำเที่ยวของจีน จากเพื่อน/ญาติที่เคยมาเที่ยวในเมืองไทย และจากเว็บไซต์ท่องเที่ยว เช่น Mafengwo, TripAdvisor เป็นต้น ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น นอกจากผู้ประกอบการไทยควรจะทำการตลาดผ่านช่องทางอย่างบริษัทนำเที่ยวและเว็บไซต์ท่องเที่ยวแล้ว อีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยด้วยการสร้างความประทับใจและให้มีการบอกต่อหรือแนะนำสิ่งที่ดีกับประเทศไทย

การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยทั้งกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรก และกลุ่มที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทยส่วนใหญ่จะใช้บริการผ่านบริการเว็บไซต์ท่องเที่ยวตัวกลาง Online Travel Agency หรือ OTA ของจีน เช่น Ctrip Qunar หรือ Fliggy เป็นต้น รองลงมา คือ บริษัทนำเที่ยวของจีน ในการจองที่พักและแพคเกจท่องเที่ยวในไทย ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางรวมกันมีสัดส่วนกว่า 80.0% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยครั้งแรก

แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว แม้ส่วนใหญ่จะมีการใช้บริการผ่าน Online Travel Agency ของจีนและบริษัทนำเที่ยวของจีน โดยมีสัดส่วนรวมกัน 53.8% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยมาท่องเที่ยวไทยก็ตาม แต่สัดส่วนการใช้บริการผ่านทั้ง 2 ช่องทางน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรก โดยนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยกลุ่มนี้มีการใช้บริการผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการผ่าน Airbnb คิดเป็นสัดส่วน 14.6% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางเที่ยวไทย

นอกจากนี้ยังมีการใช้บริการผ่าน Online Travel Agency ของต่างประเทศ (เช่น Agoda และ Expedia) และเครือข่ายสังคมออน์ไลน์ของจีน และเว็บไซต์ของโรงแรมของไทย เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทยมีช่องทางที่หลากหลาย ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยอาจจะนำมาพิจารณาในการทำตลาดผ่านช่องทางดังกล่าว

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวในไทย จากผลสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามากที่สุด โดยสินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างซื้อระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยสูงสุด คือ กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว คิดเป็นสัดส่วน 25.5% รองลงมา คือ กลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป (22.7%) กลุ่มยารักษาโรค/สมุนไพรไทย เช่น น้ำมันหม่อง เป็นต้น (22.2%) กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย (12.8%) และกลุ่มสินค้าของที่ระลึก (7.1%)

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนมีการใช้จ่ายในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในไทย รองลงมา คือ ค่าอาหาร ด้วยพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนจะมีความชื่นชอบอาหารและผลไม้ในไทย ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในแหล่งที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมพักอาศัยอาจจะมีการทำตลาดจับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เช่น เมนูภาษาจีน การทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนยังมีค่าใช้จ่ายในกลุ่มค่าบริการสุขภาพ เช่น นวด สปา เป็นต้น ค่ากิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมดำน้ำ และกิจกรรมผจญภัยอย่างโหนสลิง เป็นต้น (ค่ากิจกรรมการท่องเที่ยว ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวจะมีค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้สูงเป็นอันดับ 2 รองจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า) และค่าใช้จ่ายในด้านของค่าที่พัก ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวไทยเอง

จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมากและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนจะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไทยนั้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีการปรับตัว เห็นได้ว่าที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะทาง โรงแรมและที่พัก รวมถึงร้านค้าปลีกรายย่อย และร้านอาหารในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวจะมีการติดตั้งระบบการชำระเงินของจีน อย่าง Alipay และ WeChat Pay ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่เป็นที่นิยมของชาวจีน รวมการทำการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยผ่านระบบการชำระเงินของจีน อาทิ การรับบัตรส่วนลดหรือการระบบของสมนาคุณ เมื่อซื้อสินค้าครบตามมูลค่าที่กำหนด เป็นต้น

จากผลสำรวจรูปแบบการชำระค่าสินค้าหรือบริการของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย พบว่า นักท่องเที่ยวจีนในไทยส่วนใหญ่ยังใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้าหรือบริการมากที่สุด อย่างไรก็ดี การชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องมือทางการเงินของจีนอย่าง Alipay และ WeChat Pay มีสัดส่วนการใช้ใกล้เคียงกับเงินสด

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามนักท่องเที่ยวจีน เห็นว่า การที่ร้านค้าในเมืองไทยให้บริการการชำระค่าสินค้าผ่านเครื่องมือทางการเงินของจีนมีผลต่อการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 81.8% เนื่องจากมองว่าช่วยอำนวยความสะดวกทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องแลกเงิน และมีส่วนลดจากร้านค้า ขณะที่มองว่าไม่มีผลต่อการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การแข่งขันในตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เข้มข้น ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับตัวรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน อาทิ การอำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยระบบการชำระเงินของจีน การทำตลาดประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการอาจจะทำผ่านช่องทางดิจิทัล หรือเว็บไซต์ตัวกลางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้ในการหาข้อมูล เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ