กกพ.ลุ้นแผน PDP ใหม่สรุป ก.ย.ก่อนแล้วเสร็จปีนี้ เล็งเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าพลังงานขยะ-ปรับรูปแบบรับซื้อโซลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 27, 2018 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใกล้เคียงกับแผน PDP2015 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ที่ใช้ในช่วงปี 58-79 ซึ่งจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 16,778 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 79 แต่อาจจะมีการรับซื้อเพิ่มเติมในส่วนของเชื้อเพลิงขยะที่ปัจจุบันกำหนดไว้ 550 เมกะวัตต์ภายในปี 79 ซึ่งในส่วนนี้มาจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ขณะที่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) อาจจะเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบปัจจุบัน

"เป้าหมายการรับซื้อน่าจะคล้าย ๆ เดิม แต่รูปแบบการซื้ออาจจะเปลี่ยนไป ยังไม่สรุป อย่างลมก็รวมกันประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ โซลาร์ก็อาจจะมีโซลาร์ประชาชนเข้ามา ก็จะต้องดูรายละเอียดอีกที ชีวมวลน่าจะยังเป็นเป้าหมายเดิมคงไม่ได้เปลี่ยน...ขยะคงมีเพิ่มแน่ แต่ตัวเลขยังไม่แน่นอน รอให้ทางมหาดไทยทำตัวเลขเข้ามา แต่หลักการน่าจะเสร็จในเดือนนี้ หลังจากนั้นเดือนกันยาฯก็จะเข้าสู่กระบวนการ Hearing ทั้งเดือน"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมเรื่องแผน PDP ฉบับใหม่ในสัปดาห์นี้ และน่าจะสามารถสรุปหลักการได้แล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน ก.ย. ก่อนจะสรุปเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับก่อนจะประกาศใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยแผน PDP จะเป็นแผนที่มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและการจัดหาปริมาณไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมที่จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไปในอนาคตด้วย

ปัจจุบัน กกพ. กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม Code of Practice: CoP) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่าง ๆ ออกมาแล้ว แต่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ในน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) นั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์ออกมา ขณะที่เริ่มมีหลายรายเริ่มหันมาผลิตโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำมากขึ้น อย่างเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,กลุ่มมิตรผล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันกกพ.ได้จัดทำเกณฑ์ CoP สำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแล้วเสร็จ หลังจากนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปลายปีนี้ โดย CoP จะช่วยดูแลผลกระทบเรื่องความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในระหว่างก่อสร้าง และการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดทำอัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างชุมชน ซึ่งจะต้องอาศัยสายส่งของระบบจำหน่ายอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย Wheeling Charge เป็นหนึ่งในประเภทของอัตราค่าบริการพิเศษต่าง ๆ ที่กกพ.จะจัดทำขึ้นในปี 62 หลังจากที่จัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับปี 61-63 แล้วเสร็จภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเอกชนหันมาประกอบการเป็นผู้บริหารจัดการพลังงานและตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างชุมชน อย่างในพื้นที่โครงการพื้นที่ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ของบมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่มีบมจ.บีซีพีจี (BCPG) เป็นผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างพื้นที่ชุมชน T77 โดยผ่านสายส่งระบบจำหน่ายของกฟน. ซึ่งจะต้องมีการกำหนดอัตราค่าใช้บริการสายส่งระบบจำหน่าย หรือ Wheeling Charge แต่ขณะนี้กกพ.ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมา การซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ T77 นั้นทางกฟน.จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากกกพ. โดยเสนออัตราค่าใช้บริการดังกล่าวมาให้พิจารณาภายใต้โครงการนำร่อง (pilot project) ระหว่างรอการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เจ้าของระบบจำหน่ายอย่างกฟน. หรือกฟภ. ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาต่อไป

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะ กกพ.ก็เตรียมที่จะเปิดรับซื้อเพิ่มหากแผน PDP ฉบับใหม่ให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะ นอกเหนือจากปัจจุบันที่กกพ.อยู่ระหว่างเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจำนวนประมาณ 78 เมกะวัตต์ โดยผู้ที่ดำเนินโครงการนี้อยู่ในบัญชีโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าวภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นข้อเสนอมาแล้ว 1 ราย และคาดว่าส่วนที่เหลือจะทยอยยื่นได้ทันตามกำหนด

ทั้งนี้ ตามโครงการ Quick Win นั้นผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการร่วมทุนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหากผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้วทางกกพ.ก็จะพิจารณาประเด็นข้อเทคนิคเพิ่มเติมก็จะสามารถอนุมัติโครงการได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีอำนาจในการขายไฟฟ้าได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางกระทรวงมหาดไทยได้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งยังต้องรอประเด็นการตีความจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แต่ในส่วนของกกพ.ก็สามารถพิจารณาคู่ขนานกันไปได้

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนในรูปอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ได้เริ่มทยอยเข้าระบบในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ค.61 มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบแล้วรวม 7,814 เมกะวัตต์ จะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ราว 23-26 สตางค์/หน่วย ขณะที่ในช่วงปลายปีนี้จะมีการผลิตไฟฟ้าโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟสสอง เข้าระบบอีกจำนวนไม่มาก ก็น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ