สศค.-KBANK มองศก.ไทยมีภูมิต้านทานแข็งแกร่ง ทำให้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่มาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2018 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในภาวะสงครามการค้าโลก" ว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 ก.ย.61 สหรัฐจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ จากที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกเก็บแล้ว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และจีนอาจมีการตอบโต้สหรัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.2 แสนล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน สหรัฐยังมีแรงกดดันในประเทศจากการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะต้องแสดงออกให้เห็นว่ามีความเข้มแข็งพอเพื่อให้สามารถเรียกคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าทรัมป์อาจผ่อนปรนด้านการค้า เนื่องจากจีนได้มีการตอบโต้กลับเช่นกันในสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐ อาทิ ถั่วเหลือง, วิสกี้ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญที่ทรัมป์จำเป็นเรียกความเชื่อมั่นจากความคาดหวังในการเป็นประธานาธิบดี สมัยที่ 2

ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากสงครามการค้า แม้ว่าไทยจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจจากการส่งออกเป็นหลัก แต่สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐและจีนอยู่ที่เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งมองว่ายังมีประเทศอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งรองรับการส่งออกได้ ประกอบกับมองว่าสงครามการค้าไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตสูง จึงทำให้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้ส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของสหรัฐมากนัก แม้จะอยู่ใน supply chain ของจีน แต่ปัจจุบันเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าลง 9% อีกทั้งจีนมีการผลิตเพื่อใช้เองเป็นส่วนมาก และเป็นตลาดที่มีการบริโภคขนาดใหญ่ จึงทำให้มีผลกระทบของสงครามการค้าต่อไทยค่อนข้างจำกัด

นายศรพล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยดูได้จากที่ครึ่งแรกของปีนี้ GDP เติบโตกว่า 4.8% สูงสุดในรอบ 5 ปี และที่สำคัญการเติบโตยังขับเคลื่อนจากหลายเครื่องยนต์ อาทิ การบริโภคในประเทศ และการลงทุน ซึ่งสามารถต้านทานต่อภัยสงครามการค้าได้ ขณะเดียวกัน ไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก คิดเป็น 3.5 เท่าของหนี้สินต่างประเทศ และเพียงพอต่อการนำเข้าสิ่งที่จำเป็นนานถึง 9.8 เดือน ซึ่งมองว่ามีความปลอดภัยสูง อีกทั้งอัตราการปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำ จากการเรียนรู้ความผิดพลาดจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ขณะที่ยังมีกระแสเงินไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรจากวิกฤติการเงินในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกระแสเงินทุนและการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปมีสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ด้าน น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์สงครามการค้าไม่สามารถใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ได้ เนื่องจากมองว่าเป็นเกมการเมือง แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจริง จากที่เมื่อต้นปี 61 มองว่าเป็นเพียงการขู่ของสหรัฐเท่านั้น ซึ่งคาดว่าการเรียกเก็บภาษีสินค้า 2 แสนล้านดอลลาร์ของสหรัฐ อาจเป็นการทยอยเรียกเก็บทีละก้อน

อย่างไรก็ดี มองว่าประเทศไทยยังมีการส่งออกที่เติบโตดี โดยครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตถึง 2 digit บนฐานการเติบโตที่สูง 9-10% ในปีก่อน มองว่ามาจากการเร่งส่งออกสินค้าก่อนมีการประกาศเรียกเก็บภาษีของสหรัฐในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยล่าสุดเริ่มสัญญาณการส่งออกชะลอตัว ขณะที่การส่งออกไปจีนยังทำได้ดี

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบเชิงบวกของไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้มากขึ้นทดแทนสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนสามารถส่งไปยังสหรัฐได้ลดลง มองว่าสินค้าจากจีนจะไหลมาในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ด้วย แต่คาดว่าเป็นเพียงผลกระทบเชิงลบระยะสั้น ซึ่งไทยอาจส่งออกสินค้าได้ลดลงกว่าที่ควรจะเป็นเล็กน้อยในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในระยะกลาง จีนอาจย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น ทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นด้วย

ด้านนายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทไทยถูกผูกติดกับภาวะสงครามการค้า ซึ่งความผันผวนของค่าเงินไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงจาก Sentiment ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีระยะเวลายาวนานเพียงใด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าความผันผวนของค่าเงินบาทในปี 61 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ในกรอบ 31.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปีนี้มีโอกาสอ่อนค่าลงสู่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลพื้นฐานที่สหรัฐจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสงครามการค้าอาจจบไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท มองว่ามีสาเหตุจากการส่งออกเพียง 20% ส่วนสาเหตุใหญ่ 80% มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างดัชนี DXY (ค่าเงินดอลลาร์เทียบกับค่าเงินโลก) และบาทไทยเทียบกับดอลลาร์ (THB/USD) จะเห็นว่ามีความสอดคล้องกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไทยจะมาจาก sentiment โดยรวมของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนลดลงกว่าปีก่อน

https://youtu.be/eb59oK3Lppk


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ