ธปท.ระบุรายงานเผย กนง.อภิปรายจังหวะเหมาะสมก่อนปรับนโยบายการเงินกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 3, 2018 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย.61 ระบุว่า คณะกรรมการ กนง.ได้อภิปรายเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มทยอยลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น

ทั้งนี้ กนง.จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยมีปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และเริ่มกระจายตัวมากขึ้นในหลายสาขาเศรษฐกิจโดยมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีทั้งจากรายได้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและกระจายตัว (broad-based) มากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว แม้จะชะลอลงบ้างจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจประกาศเพิ่มเติม และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ในภูมิภาคเอเชีย และจาก trade diversion รวมถึงมีข้อสังเกตว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

กรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างชัดเจนต่อเนื่องมากขึ้น โดยมองว่ายังต้องติดตามความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชนและความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ ในระยะข้างหน้า

ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและเกินกว่าระดับศักยภาพ ประกอบกับ ที่ผ่านมานโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมากเป็นเวลานาน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในวัฏจักรขาลง (down cycle) ตั้งแต่ปี 54 และอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนานที่สุดเมื่อเทียบกับในอดีต จึงเห็นว่าการลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับปกติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากราคาอาหารสดที่อาจผันผวนสูงตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณผลผลิต ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีตแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพ

"กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันได้เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรรมการส่วนหนึ่งจึงเห็นว่าการคงการผ่อนคลายของนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันต่อไปอาจไม่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น"รายงาน กนง.ระบุ

ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตได้ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าระบบการเงินมีสัญญาณความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยยอมรับความเสี่ยงสูงขึ้นส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง

นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่คณะกรรมการ กนง.จะติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีสัญญาณปรับลดลงชัดเจน ประกอบกับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน อีกทั้ง อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินออมในอนาคต และ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นอื่น ๆ ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องและเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งการออกตราสารหนี้ของภาคธุรกิจในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำค่อนข้างกระจุกตัวในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักและลงทุนกิจการในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น

กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจัดการได้ โดยความเสี่ยงบางประเภทอาจปรับตัวได้เองตามกลไกตลาด ขณะที่ความเสี่ยงบางประเภทไม่อาจปรับตัวได้ตามกลไกตลาด แต่สามารถใช้มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures) เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงเฉพาะจุดในบางภาคเศรษฐกิจได้

ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งแสดงความกังวลต่อความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินที่เริ่มสะสมความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่าความเปราะบางในระบบการเงินเริ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานซึ่งส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร ซึ่งการพึ่งพามาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ