ผู้ประกอบการหวั่น ธปท.ปรับเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯ ฉุดตลาดชะงัก-ผู้ซื้อรับผลกระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2018 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอธิป พีชานนท์ นายกธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนออกมาให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สถานบันการเงิน และลูกค้า จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาด ทำให้ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเกิดความชะงักงัน

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ผู้ซื้อโครงการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กำหนดการโอน และไม่ได้เตรียมพร้อมรับมาตรการใหม่ที่มีกฏเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้น อาจจะชะลอการโอน หรือหากบางรายอาจถูกปฏิเสธคำขอสินเชื่อ ส่งผลกระทบมาที่ผู้ประกอบการ ทำให้โครงการดังกล่าวโอนไม่ได้ตามแผนงานที่วางไว้ และกลายเป็นสต็อกเหลือขาย ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อตลาดอสังหาฯในระยะต่อมา และกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าสถาบันการเงินทุกรายล้วนแต่มีความเข้มงวดในการพิจารณาการให้สินเชื่อบ้าน โดยที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังคงอยู่ที่ระดับ 30-40% มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าค่อนข้างสูง และมีอัตราการให้สินเชื่อเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท.คือไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักทรัพย์ ซึ่งยืนยันว่ายังไม่เห็นสถาบันการเงินรายใดปล่อยสินเชื่อเกินเกณฑ์ อีกทั้งสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 3-4 ปีนี้เพิ่มขึ้นมาน้อยมากเพียง 0.02% และส่วนใหญ่เป็น NPL ที่เกิดขึ้นจากผู้กู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยมาแล้วในช่วง 3-4 ปีก่อน

"หากแบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯ มาทันทีจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่กำลังจะโอน ซึ่งไม่ได้มีการปรับตัวมาก่อน และจะกระทบต่อผู้ประกอบการด้วย ซึ่งหากมาตรการควบคุมของแบงก์ชาติที่จะออกมานั้นควรจะมีการส่งสัญญาณและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาในการปรับตัวและจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อมาก เพราะหากกระทบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วจะกระทบตามไปกันทั้งหมด

และปัจจุบันการเติบโตของ GDP ตามที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 4.5% ส่วนหนึ่งก็มาจากภาคอสังหาฯที่ช่วยผลักดัน ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP สูงเกือบ 9% และหากภาคอสังหาฯกระทบก็จะทำให้ GDP ของประเทศกระทบไปด้วย ซึ่งอยากให้ทางแบงก์ชาติเอาตัวเลขต่างๆมาดูและฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสัปดาห์หน้าก็จะมีการเข้าไปพูดคุยกับทางแบงก์ชาติ ซึ่งต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร และในปีนี้ก็ยังคาดว่าตลาดอสังหาฯยังโตได้ 5%" นายอธิป กล่าว

ส่วนกรณีที่มี NPL ของกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับบนราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปสูงมากนั้น นายอธิป กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าดังกล่าวไม่น่าจะเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาหลักในการทำให้ NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และหากจะมีการขอสินเชื่อก็คงใช้วงเงินไม่เกิน 50% ของราคาที่อยู่อาศัย และมีสัดส่วนในตลาดไม่ถึง 10%

ขณะที่ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เห็นสัญญาณของซัพพลายล้นตลาด แต่ยอมรับว่าอาจเกิดขึ้นในบางทำเลบ้าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งซัพพลายที่เกิดขึ้นมามากคาดว่าจะต้องใช้เวลาดูดซับ 1-2 ปีในการทยอยขายออกไป และหากเกิดภาวะซัพพลายล้นตลาดในทำเลนั้นๆ ก็จะเห็นผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการพัฒนาโครงการในทำเลนั้นๆ เพิ่มขึ้นอีก และฝั่งสถาบันการเงินก็จะไม่อนุมัติสินเชื่อในการพัฒนาโครงการเช่นเดียวกัน

ด้านนายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาจากกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น เกิดจากผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาประสบกับปัญหาเศรษฐกิจหดตัวในบางช่วงกระทบต่อรายได้ และทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง บางรายอาจไม่สามารถชำระหนี้ต่อได้ จนทำให้ถูกจัดชั้นเป็นลูกหนี้กลุ่ม NPL ซึ่งกลุ่มผู้ที่ซื้อบ้านราคาสูงจะมีวงเงินในการกู้สูง เมื่อเป็นหนี้เสียจึงคิดเป็นมูลหนี้เสียที่เกิดขึ้นมากกว่าเมี่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง-กลาง

แต่ภาพรวมสัดส่วนของลูกค้าที่ซื้อบ้านราคาสูงและใช้เงินกู้สูงจะมีในพอร์ตของแต่ละธนาคารไม่มากนัก และสัดส่วนของวงเงินกู้ที่ใช้เพียง 50-60% ของมูลค่าบ้าน การเพิ่มขึ้นของ NPL เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่าขณะนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจที่เติบโต แต่ยังเห็น NPL เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ

ส่วนผลกระทบหากมาตรการของ ธปท.ออกมานั้นจะเป็นอย่างไร ต้องรอการหารือในสัปดาห์หน้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนและจะมองเห็นผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรม โดยในปัจจุบันทุกธนาคารยังปฏิบัติตามเกณฑ์ของ ธปท.ที่ให้วงเงินสินเชื่อโครงการคอนโดมิเนียมไม่เกิน 90% และโครงการแนวราบไม่เกิน 95% ของมูลค่าหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ