Downtown VAT Refund ตอบโจทย์ขับเคลื่อนไทยสู่ Shopping Paradise ได้หรือไม่หลังส่อแววสะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 8, 2018 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โครงการ VAT Refund มีความจำเป็นต่อระบบค้าปลีก ภาคการท่องเที่ยว และระบบเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากจะเป็นการจัดตั้งจุดรับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยจัดให้เป็นบริการสาธารณะที่สามารถมาขอรับคืนภาษีฯ จากสินค้าที่ซื้อจากผู้ประกอบการในระบบ VAT Refund ทุกราย โดยจะคืนเป็นเงินสดในสกุลเงินบาท เพื่อให้นักท่องเที่ยวนำกลับมาจับจ่ายใช้สอยต่อได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวก และเพิ่มรายได้ รวมถึงสามารถกระจายรายได้ในส่วนนี้ไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย

ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่มาช็อปปิ้งในเมืองไทยสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในรูปแบบดราฟต์ (USD Euro Pound Sterling หรือ โอนเข้าบัญชีบัตรเครดิต (VISA MasterCard และ JCB) และจุดที่ขอคืนได้คือสนามบิน แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากขึ้นจึงได้เพิ่มรูปแบบการขอคืนภาษีในโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists ในรูปของสกุลเงินบาทและเพิ่มจุดบริการโดยผ่านตัวแทนให้บริการในเมือง

"การเพิ่มทางเลือกในการขอคืนเงินภาษีให้นักท่องเที่ยวน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชนจะได้กระตุ้นการจับจ่ายให้คึกคักมากขึ้นและยังช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบินได้เป็นอย่างดี"นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าว

ล่าสุดทางกรมสรรพากร ตัดสินใจเลือกเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น 3 สาขา เป็นจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมืองเพียงผู้เดียว

ท่ามกลางคำถามว่า ร้านสะดวกซื้อที่มียอดใช้จ่ายต่อบิลเฉลี่ย 100 บาทมีความพร้อมหรือเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน จุดที่ตั้งของเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั้ง 3 แห่งมีความเหมาะสมเรื่องความสะดวกสบายหรือไม่ที่จะให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปขอคืนภาษีเพียง 3 จุดที่ว่าคือ เยาวราช, ลิโด้ และแบงค็อก ไนท์บาซาร์

ขณะที่มาสเตอร์การ์ด ได้เผยผลสำรวจปี 2561 กรุงเทพฯ ครองแชมป์อันดับหนึ่งสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกติดต่อกันเป็นปีที่สาม ถือเป็นการครองอันดับหนึ่งครั้งที่ห้าในรอบหกปี (นับจากปี 2555) โดยในปี 2561 มี 3 เมืองท่องเที่ยวไทย คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ยกขบวนยึดตำแหน่งใน 20 อันดับแรก

กรุงเทพฯ คือเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด ถือเป็นการครองอันดับหนึ่งครั้งที่ห้าในรอบหกปี (นับจากปี 2555) และเป็นการครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่สามแล้วสำหรับกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้ โดยในปีนี้มีภูเก็ตและพัทยาติดโผเข้ามาอยู่ใน 20 อันดับต้นด้วยเช่นกัน ในตำแหน่งที่ 12 และ 18 ตามลำดับ

แม้ว่าช่วงหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักจะลดลงเพราะมีปัจจัยที่เข้ามากระทบจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหลายเรื่องทั้งเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ความท้าทายจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่เริ่มส่งผลกระทบชัดเจน เนื่องจากเมื่อค่าเงินหยวนลด อาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนกังวลและระมัด ระวังการใช้จ่ายมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นโอกาสของภาคท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ราคาสินค้าและบริการคุ้มค่า

ดังนั้น การมี VAT Refund for Tourists ทั้งในรูปแบบของเงินสดและเพิ่มจุดให้บริการในเมืองย่อมส่งผลดีต่อการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทยของนักท่องเที่ยว เพราะในสายตาของนักท่องเที่ยว ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางของนักผจญโลกทั้งหลายอยู่แล้ว และการท่องเที่ยวกับการช็อปปิ้งเป็นของคู่กัน ยิ่งถ้าช็อปปิ้งแล้วได้คืนภาษีเป็นเงินสดทันที มีหรือจะไม่อยากมา

นี่คือจังหวะที่ต้องฉวยโอกาส

ในแง่ของค้าปลีก ถ้าดูอุตสาหกรรมค้าปลีกในอาเซียนล้วนใช้นโยบาย "Shopping Tourism" กระตุ้นการบริโภคในประเทศทั้งสิ้น โดยอุตสาหกรรมค้าปลีกประเทศเวียดนาม มีอัตราเติบโตสูงสุด 12.7% โดยมีการใช้แคมเปญ "Vietnam Timeless Charm"ตามด้วย อินโดนีเซีย 9.4% กับแคมเปญ "Wonderful Indonesia" มาเลเซีย 9.2% มีแคมเปญ "Truly Asia" และ ฟิลิปปินส์ 8.2% "It's more fun the Philippines" และทุกประเทศที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปก็มี Tax Refund สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น Tax Refund ในออสเตรเลีย, การของคืนภาษี GST ในสิงคโปร์และมาเลเซีย

ส่วนใครที่ชอบไปเกาหลีสินค้าทุกอย่างจะมีการบวก VAT 10% อยู่แล้ว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีในส่วนนี้ได้ ซึ่งจะได้ VAT Refund คืน 70% จากยอด VAT ขณะที่สนามบินในเกาหลี อำนวยความสะดวกในการขอคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก เพียงซื้อสินค้าในร้านที่มีเครื่องหมาย Tax Refund ไม่ต่ำกว่า 30,000 วอน ที่ร้านค้าปลีกที่เข้าร่วมโครงการ โดยที่ร้านจะมีสัญลักษณ์ "Global Blue TAX FREE" หรือ "GLOBAL TAXFREE" แล้วขอเอกสาร Tax Refund มาด้วย พอมาถึงสนามบิน ก่อนจะเช็คอิน เพียงแค่มองหาเครื่อง Tax Refund แล้วสแกนหน้าพาสปอร์ต และใบเสร็จสำหรับขอเรียกภาษีคืนที่มีบาร์โค้ดอยู่ด้วย

หันกลับมามองประเทศไทยพบว่าค้าปลีกไทยมีการเติบโตต่ำสุดในอาเซียน คือ 3.9% ต่อปี ทั้งๆ ที่มี"Amazing Thailand"เป็นตัวขับเคลื่อน ที่สำคัญการค้าปลีกของไทยยังเติบโตต่ำกว่าจีดีพีของประเทศอีกด้วย

"นักท่องเที่ยวไม่ช็อปปิ้งในเมืองไทย"นายวรวุฒิ กล่าว

อะไรคือสาเหตุที่ตัวเลขการช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวน้อย ทั้งๆที่สถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในช่วงขาขึ้น ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และกรุงเทพมหานครเป็นเมืองอันดับ 1 ของโลกด้วย อะไรคือปัญหาที่นักท่องเที่ยวงไม่ช็อปปิ้งในประเทศไทยทั้งๆ ที่อาหารไทยอร่อย ผลไม้หลากหลาย ศิลปหัตถกรรมก็น่าสนใจมีความเป็น Thailand Only

ดังนั้น ผลักดันให้ไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช็อปปิ้ง (Thailand Shopping Paradise) จึงเป็นเป้าหมายหลัก จำเป็นต้องมี VAT Refund for Tourists ถ้าไม่มี VAT Refund for Tourists นักท่องเที่ยวก็จะซื้อของแพง แพงทั้งประเทศ

ต้องจับตาดูต่อไปว่าสุดท้ายแล้วโครงการ Downtown VAT Refund for Tourists ที่มี"เคาน์เตอร์เซอร์วิส"เป็นตัวแทนด้วยจุดบริการเพียง 3 จุดในช่วงทดลองนำร่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือเรียกว่าโครงการ Sandbox ตั้งแต่ 1 ต.ค.61- 31 มี.ค.62 จะสามารถให้ผลสรุปว่าโครงการนี้ Work หรือไม่ Work จะสามารถชี้วัดว่าโครงการนี้ควรนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ