(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ย.61 ลดลง 2.6% แต่ Q3/ 61 ยังขยายตัว 1%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 30, 2018 11:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน ก.ย.61 อยู่ที่ 111.20 ปรับลดลง 2.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนี MPI ในไตรมาส 3/61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0% ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 61 ยังคงขยายตัว 2.9% (จาก 9 เดือนปี 60 ขยายตัว 1.9%)

สำหรับสาเหตุที่ดัชนี MPI เดือน ก.ย.61 ลดลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน เนื่องจากการหดตัวของการส่งออกของรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง, แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) หดตัวลดลง 1.4% ขณะที่การส่งออก 9 เดือนแรกปี 61 ขยายตัว 9.8%

"ดัชนี MPI ลดลงครั้งแรกในรอบ 16 เดือน สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการส่งออกรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง เชื่อว่าในเดือนหน้า (ต.ค.) ดัชนีจะฟื้นตัวกลับมา เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดเพิ่มเติม เช่น ข้าว สับปะรด และการใช้จ่ายช่วงปลายปี แต่ถ้าดูภาพรวม 9 เดือนแรกของแล้วยังอยู่ในเกณฑ์" นายอิทธิชัย กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือน ก.ย.นี้ ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 107.98% จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติ ทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 7.14% จาก PCBA และ Other IC ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 8.57% จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามความต้องการของตลาดภายในประเทศภาคการขนส่งที่ดีขึ้น

เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัว 17.72% จากเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย โดยเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรป โดยเป็นสินค้าชุดกีฬา และตลาดในประเทศ จากการเร่งผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงปลายปี

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัว 15.81% จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปตลาดญี่ปุ่น รวมถึงตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น การจำหน่ายในประเทศจากการกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิต

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ในเดือนก.ย. ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมเดือนก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.3% เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้นมาก และการผลิตทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออก และผลจากเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ มีปริมาณการผลิตขยายตัว 32% ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนการนำเข้าเดือน ก.ย.61 หดตัวลดลง 5.8% โดยสินค้าทุนที่นำเข้าลดลง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แต่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัว 7.1% ขณะที่การนำเข้า 9 เดือนแรกปี 61 ในส่วนของสินค้าทุนขยายตัว 6.6% และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัว 11.8%

ทั้งนี้ สศอ.กำหนดเป้าหมายดัชนี MPI ในปี 61 ไว้ที่ 2.5-3.0%

สำหรับปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้นนั้น นายอิทธิชัย กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยยังเป็นไปตามปกติ แต่คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อหากมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ