KBANK คาดกนง.ยังคงดอกเบี้ยในปีนี้ แม้เสียงสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เหตุความเสี่ยงตปท.ยังมีมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2018 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดี แม้ว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอลง โดย กนง.ปรับมุมมองต่อการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และการร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกับภาครัฐ ทั้งนี้ ฝ่ายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยยังคงให้น้ำหนักโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อลดพฤติกรรมแสวงหาผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง (search for yield) ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำยาวนาน และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการการเงิน (policy space) ในอนาคต

"มติของที่ประชุม กนง. เหนือความคาดเหมายของตลาด ทำให้เงินบาทแข็งค่าเพียง 4 สตางค์และกลับเข้าสู่ภาวะระดับก่อนการประกาศ ทั้งนี้ ผลสำรวจของ Bloomberg พบว่าสถาบันส่วนใหญ่ 17 ต่อ 12 แห่งยังคงคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคมเช่นกัน และสถาบัน 15 ต่อ 7 แห่งมองว่า กนง. มองจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคม 62" ธนาคารกสิกรไทย ระบุ

ธนาคารกสิกรไทย มองว่า การที่ กนง.เพิ่มน้ำหนักโอกาสขึ้นดอกเบี้ยด้วยจำนวนเสียงสนับสนุนขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5 ต่อ 2 เสียงในครั้งก่อน มาที่ 4 ต่อ 3 เสียงในครั้งนี้ โดย กนง.มองว่าอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลงนั้น แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากผลกระทบของสงครามการค้า และอีกส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ และปัจจัยชั่วคราวจากสภาพอากาศ และประเมินการลงทุนภาคเอกชนดีกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือน รวมทั้งเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสอดคล้องกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สัญญาณดังกล่าวทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้มีมากขึ้น โดยมองว่าการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในวันที่ 19 พ.ย.นี้ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อมติ กนง.ในครั้งต่อไปวันที่ 19 ธ.ค.

ธนาคารกสิกรไทย มองว่าในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน การคงดอกเบี้ยในปีนี้มีน้ำหนักมากกว่า เนื่องจากความเสี่ยงจากภายนอกยังมีมาก โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อไทยยังได้รับอิทธิพลจากราคาน้ำมันมากกว่าปัจจัยความต้องการในประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่ยั่งยืน รวมถึงภาคธุรกิจขนาดเล็กของไทยที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหากำไรโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงสูงจะมีมาก แต่มองว่ากระจุกตัวอยู่เพียงบางภาค คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ทำให้การใช้นโยบาย Macro Prudential อาจได้ผลที่ตรงจุดมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ