ส.อ.ท.-นิด้า เผยผลสำรวจ CEO Survey ส่วนใหญ่คาดศก.ไทยปี 62 โต 1-5% ชี้การลงทุน-ท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 20, 2018 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับ "สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย"         (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม  เรื่อง "CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2562" พบว่า ผู้บริหารระดับสูง 45.46% ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัว, 39.09% ระบุว่าทรงตัว และ 15.45% ระบุว่า หดตัว

โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวนั้น ส่วนใหญ่ 74% ระบุว่า จะขยายตัว 1 – 5%, อีก 10% ระบุว่า ขยายตัว 6 – 10% และไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และที่เหลือ 6% ระบุว่า ขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะหดตัวนั้น 35.29% ระบุว่า จะหดตัว 1 – 5%, 17.65% ระบุว่า หดตัว 6 – 10% และไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และ 29.41% ระบุว่า หดตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง 38.18% ระบุว่า ทิศทางภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2562 จะขยายตัว, 46.37% ระบุว่า ทรงตัว และ 15.45% ระบุว่า จะหดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ทิศทางภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2562 จะขยายตัวนั้น 64.29% ระบุว่า จะขยายตัว 1 – 5%, 26.19% ระบุว่า จะขยายตัว 6 – 10%, 4.76% ระบุว่า จะขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ทิศทางภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมในปี 2562 จะหดตัวนั้น 47.06% ระบุว่า จะหดตัว 1 – 5%, 23.53% ระบุว่า จะหดตัว 6 – 10% และ 29.41% จะหดตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป

สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อการวางกรอบการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 ของรัฐบาล ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 71.82% ระบุว่า สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ รองลงมา 35.45% ระบุว่า ความมีเสถียรภาพด้านการเมืองจะเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (การค้า การลงทุน การผลิต การบริโภค เป็นต้น), 22.73% ระบุว่า นักลงทุนอาจชะลอหรือเลื่อนการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลใหม่ และ 20% ระบุว่า มีความกังวลต่อความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจภายหลังจากได้รัฐบาลใหม่

ด้านปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในปี 2562 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 64.55% ระบุว่า เป็นความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างมากขึ้น รองลงมา 42.73% ระบุว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง, 40% ระบุว่า เป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), 33.64% ระบุว่า เป็นการลงทุนภาคเอกชน และ 30.91% ระบุว่า เป็นการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่เป็นไปตามแผนงาน

ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในปี 2562 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 68.18% ระบุว่า เป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น, 39.09% ระบุว่า เป็นเศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังมีข้อจำกัดในการเติบโตและมีความเปราะบาง, 36.36% ระบุว่า เป็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่ปรับเข้าสู่ช่วงขาขึ้น (การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของFed), 34.55% ระบุว่า เป็นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการไหลเข้า-ออกของเงินลงทุน, 30% ระบุว่า เป็นแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น, 10.91% ระบุว่า เป็นความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง (การดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ) และ 10% ระบุอื่นๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับการวางแผนของผู้บริหารระดับสูงในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2562 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 66.36% ระบุว่า มีการวางแผนและมีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ 33.64% ระบุว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงปี 2561 โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า มีการวางแผนและมีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ 49.32% ระบุว่า มีวิธีการวางแผนโดยพัฒนาคุณภาพและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเพื่อลดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของสินค้าที่อาจไหลเข้าสู่ตลาดภายในประเทศจากผลกระทบของสงครามการค้า รองลงมา 46.58% ระบุว่า เป็นการขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า, 38.36% ระบุว่า เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต, 23.29% ระบุว่า เป็นการขยายการลงทุน และ 21.92% ระบุว่า เป็นการชะลอการลงทุน

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 44.55% ระบุว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการใช้สินค้าไทย (Made in Thailand) รองลงมา 43.64% ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), 41.82% ระบุว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน และป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า, 32.73% ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างต่อเนื่อง, 30% ระบุว่า ภาครัฐควรส่งเสริมการค้าชายแดนโดยการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV และแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการขนส่งและโลจิสติกส์บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และ 3.64% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมายที่ซ้ำซ้อน และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 49.09% ระบุว่า ส่งผลลบ รองลงมา 32.73% ระบุว่า ส่งผลดี และ 18.18% ระบุว่า ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ส่งผลลบนั้น ส่วนใหญ่ 57.41% ระบุว่า การส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ประเทศ อาจลดลงได้ รองลงมา 42.59% ระบุว่า สินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีจะไหลเข้าสู่ตลาดของไทยมากขึ้น และ 37.04% ระบุว่า อาจทำให้ผู้ประกอบการจีนย้ายฐานการผลิตมาไทย หรือสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ส่วนในจำนวนผู้ที่ระบุว่าส่งผลดีนั้น ส่วนใหญ่ 75% ระบุว่า เป็นโอกาสในการส่งสินค้าเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ 66.67% ระบุว่า ดึงดูดการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

ความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก จากกรณีการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี สหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement-USMCA) พบว่า ผู้บริหารระดับสูง 44.55% ระบุว่า ส่งผลดี คือ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความตึงเครียดด้านการค้าโลกให้คลี่คลายลง, 20.91% ระบุว่า ส่งผลเสีย จากเดิมที่การเจรจาการค้าอยู่ในรูปแบบพหุภาคี แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะทำข้อตกลงเป็นรายประเทศแทน และ 34.54% ระบุว่า ไม่แน่ใจ

สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของผู้บริหารระดับสูง เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2562 มีดังนี้

1) รัฐบาลควรมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของไทย ส่งเสริมการอบรมพัฒนาฝีมือของผู้ใช้แรงงาน ส่งเสริมการสร้างรายได้ในชนบท ส่งเสริมด้านการเกษตร การพัฒนาธุรกิจ SMEs อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติ

2) ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

3) มีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีหรือทางการเงินเพื่อการส่งออกต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การยื่นเอกสารต่างๆ ให้มีความคล่องตัว การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ธุรกิจโลจิสติกส์ที่ให้บริการแก่บริษัทส่งออก ลดอัตราภาษีการส่งออกชายแดน ค่าเงินและระวางเรือ

4) แก้ไขกฎระเบียบของภาครัฐให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ