ม.หอการค้าฯ เผยปี 61 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.8% ตามค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 6, 2018 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2561 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 316,623 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 64.7% และหนี้นอกระบบ 35.3% โดยมีการผ่อนชำระต่อเดือน 15,925 บาท แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 17,114 บาท และหนี้นอกระบบ 5,193 บาท

ส่วนใหญ่อันดับแรกจะเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมา คือ หนี้ซื้อยานพาหนะ (รถยนต์/รถจักรยานยนต์) อันดับ 3 หนี้เพื่อประกอบธุรกิจ/ประกอบอาชีพ อันดับ 4 หนี้จ่ายบัตรเครดิต และอันดับ 5 หนี้ซื้อบ้าน

ทั้งนี้ ลักษณะหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่ 48.3% ตอบว่าเป็นหนี้ก้อนเก่าทั้งหมด รองลงมา 38.7% ตอบว่าเป็นหนี้ทั้งก้อนเก่าและก้อนใหม่ และที่เหลืออีก 13% ตอบว่าเป็นหนี้ก่อนใหม่ทั้งหมด โดยในส่วนของหนี้สินในระบบนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 60 และในปี 62 ก็จะยังคงเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ส่วนหนี้สินนอกระบบนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่าเท่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 60 และในปี 62 ก็จะยังคงเท่าเดิม

สำหรับลักษณะการก่อหนี้ในปี 2561 ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 73.8% ตอบว่ามีเฉพาะหนี้ในระบบ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 18.7% ตอบว่ามีเฉพาะหนี้นอกระบบ และมีกลุ่มตัวอย่าง 7.5% ที่ตอบว่ามีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ

อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 86.8% ระบุว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เคยประสบปัญหาขาดการผ่อนชำระหนี้หรือผิดนัดการชำระหนี้ แต่มีเพียง 13.2% ที่ระบุว่า ไม่เคย โดยปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาในการชำระหนี้นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบว่า เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา คือ รายได้ลดลง, เป็นหนี้แบบทบต้นทบดอก, ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้, ธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่อง และราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ดังนี้ 1. ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ 2. ดูแลค่าครองชีพ และควบคุมระดับราคาสินค้าให้เหมาะสม 3. ดูแลเรื่องสวัสดิการประชาชนให้ครอบคลุม เช่น ค่ารักษาพยาบาล 4. แก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 5. แก้ปัญหาการว่างงาน และหาอาชีพเสริมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน 6. จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการ 7. คัดสรรผู้ที่ควรมีสิทธิได้รับสวัสดิการแห่งรัฐที่แท้จริง และจัดการขึ้นทะเบียนคนจน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,203 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-28 พ.ย. 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ