ม.รังสิต ชี้ศก.ไทยยังไม่มีแรงกดดันให้เร่งขึ้นดอกเบี้ย ห่วงหนี้ครัวเรือนเพิ่ม-ศก.ฐานรากชะลอ-บาทแข็งกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 16, 2018 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า แม้แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาสแรกปีหน้าจะปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารสาธารณะ ราคาพลังงาน และกิจกรรมการเลือกตั้ง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันหรือปัญหาทางด้านเสถียรภาพ จึงยังคงยืนยันความเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) รอบนี้ (19 ธ.ค.) การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากชะลอตัวลงอีก เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อภาคส่งออก

ส่วนกรณีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการสำรวจของหอการค้าไทย โดยมูลค่าหนี้อยู่ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือนนั้น จะมีความอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพยถาวร (บ้าน รถยนต์) จะชะลอตัวลง การลงทุนเพื่อประกอบกิจการก็อาจชะลอตัวลงด้วยจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น

"ยอดหนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่มากกว่า 12 ล้านล้านบาท อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ การทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อลดการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จะเป็นแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน" นายอนุสรณ์กล่าว

สำหรับประชาชนในระดับฐานรากนั้น ผู้ใช้แรงงานควรได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ ควรมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต และป้องกันปัญหาฟองสบู่ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และอาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อน

นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงปัญหาการเลิกจ้างด้วยว่า ขณะนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เพิ่มอัตราชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้แรงงาน ช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ถูกเลิกจ้างได้ระดับหนึ่ง ขณะที่กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ประสงค์ย้ายตามไป ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างและได้สิทธิชดเชยตามอัตราใหม่ เช่น ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

พร้อมประเมินว่า ปีหน้าจะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำมาก มีความเสี่ยงสูง และจะมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้แก่ 1. ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายหรือการให้เช่า CD DVD 3. ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และปาล์มน้ำมัน 4. สถานศึกษาเอกชน 5. ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม 6. ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 7. ธุรกิจหัตถกรรม และเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8. อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องหนัง 9. เครือข่ายสาขาสถาบันการเงิน 10. เครือข่ายห้างสรรพสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ