ลุ้นรัฐเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ฝั่งตะวันตกรองรับจ่ายไฟเข้าระบบปี 66-67 พร้อมทยอยรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2018 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ ปี 2561-2580 มีโอกาสที่จะเปิดแข่งขันรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน (IPP) ใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก เพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 66 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (MW) และรองรับการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67 จำนวน 700 เมกะวัตต์

เบื้องต้นกำหนดแผนเป็น 2 ทางเลือกเพื่อให้เป็นโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน ระหว่าง IPP และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่แผน PDP ฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ซึ่งโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกที่จะเปิดแข่งขันดังกล่าวนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งจากแผนที่จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน รวมประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ ตลอดแผนในช่วงปี 2561-2580

ขณะที่ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็จะทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อเนื่อง แต่การรับซื้อไฟฟ้าเพื่อจ่ายเข้าระบบนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางแผน หรือช่วงปี 2570 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมีราคาที่แข่งขันได้และจะไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้ามากเกินไป

ทั้งนี้ การจัดทำร่างแผน PDP จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มเติม เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภาค ,การจัดสรรโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ , การจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคไฟฟ้า โดยในปลายแผนคาดว่าจะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าระดับราว 17% จากแผน PDP2015 ซึ่งเป็นฉบับเดิมที่สิ้นสุดในปี 2579 จะมีปริมาณสำรองไฟฟ้าราว 15% ขณะที่สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในแผน PDP ฉบับใหม่ เมื่อเทียบกับ PDP2015 ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 53% จาก 37% , ถ่านหิน/ลิกไนต์ อยู่ที่ 12% จาก 23% ,ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 9% จาก 15% , พลังงานหมุนเวียน 20% จากเดิม 20% , นิวเคลียร์ อยู่ที่ 0% จาก 5% ,เชื้อเพลิงอื่น ๆ จาก 0.06% จาก 0.1% และการอนุรักษ์พลังงาน 6% จากเดิม 0%

สำหรับร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2580 ที่ 73,211 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2560 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 46,090 เมกะวัตต์ โดยในช่วงปี 2561-2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ 51,415 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ปลดออกจำนวน 24,294 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนของกำลังการผลิตใหม่ดังกล่าว จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,757 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับของกฟผ. 500 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ได้ต่ออายุตามแผนเดิม จำนวน 1,105 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (กฟผ./IPP) จำนวน 13,156 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้า IPP ที่มีสัญญาแล้ว และโรงไฟฟ้าใหม่ของกฟผ. ,โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ (กฟผ./IPP) จำนวน 1,740 เมะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน (กฟผ./IPP) จำนวน 8,300 เมกะวัตต์

ตามแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักรายภาค ได้แก่ ภาคตะวันตก จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ. จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2566 และจำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2567 ,แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคใต้ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐชายแดนใต้ (1) 60 เมกะวัตต์ ในปี 2564 โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐชายแดนใต้ (2) 60 เมกะวัตต์ ในปี 2565 โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ของกฟผ. 700 เมกะวัตต์ ในปี 2570 โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 700 เมกะวัตต์ ในปี 2572 โรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ. จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2577 และจำนวน 700 เมกะวัตต์ ในปี 2578

ภาคเหนือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2569 ,ภาตตะวันออกเฉียงเหนือ โรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ของ กฟผ.ในปี 2563 โรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2566 โรงไฟฟ้าน้ำพอง 650 เมกะวัตต์ ของกฟผ.ในปี 2568 ,ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศรวม 2,800 เมกะวัตต์ในช่วงปี 2569-2578 , โรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2573 และ จำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2575

ภาคตะวันออก จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 1,000 เมะวัตต์ในปี 2576 และจำนวน 700 เมกะวัตต์ในปี 2580 ,ภาคกลางตอนบนจะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ.จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ในปี 2575 และเขตนครหลวง จะมีโรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ ของ กฟผ.ในปี 2569 โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 1,400 เมกะวัตต์ในปี 2570 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ในปี 2571 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 เมกะวัตต์ในปี 2578 และโรงไฟฟ้าหลักแข่งขัน IPP/กฟผ. 700 เมกะวัตต์ในปี 2579

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ในช่วงปี 2561-2580 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับแผน PDP เดิมที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ทำให้ตลอดแผน PDP ใหม่นี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนรวม 900 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามกำลังการผลิตใหม่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2561-2580 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ลอยน้ำ และพลังน้ำ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ,พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตใหม่ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมด โดยกรณีของโซลาร์ประชาชน คาดว่าจะมีการรับซื้อเข้าระบบราว 4,250 เมกะวัตต์ เพราะจะเน้นให้เกิดการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กตามบ้านที่อยู่อาศัย และเมื่อมีส่วนเกินจึงขายไฟฟ้าเข้าระบบ ส่วนรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้านั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

สำหรับร่างแผน PDP ฉบับใหม่ดังกล่าวจะมีการทบทวนอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า ตามแผนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ซึ่งอาจจะมีการปรับแผนใหม่หลังคาดมีความชัดเจนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ รวมถึงความชัดเจนในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักที่จะเปิดให้มีการแข่งขันนั้น ขณะนี้เปิดทางเลือกไว้ระหว่าง กฟผ.และ IPP โดยจะให้ความสำคัญหลักที่ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนก่อนเพราะเป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง โดยต้องดูว่ามีความสามารถลงทุนมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่เกินจากนั้นก็จะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากเบื้องต้น กฟผ.ไม่สามารถเข้าไปแข่งขันลงทุนกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ภายหลังร่างแผน PDP ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่คาดว่าจะมีการนำเสนอในช่วงต้นเดือนม.ค.62 แล้ว ก็จะมีการจัดทำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) คาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นจากเดิม 34 ล้านตันในปี 2579, แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงแผนแม่บทกระทรวงพลังงาน ปี 2562-2566 ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการต่อไป

ขณะที่การจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ดังกล่าวอยู่คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนจะไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยคาดว่าค่าไฟฟ้าตามร่างแผน PDP จะอยู่ราว 3.576 บาท/หน่วย

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า แผน PDP ฉบับใหม่ยังมีความคาดเคลื่อน เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) เข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ขณะที่ราคา LNG ก็ผันแปรตามราคาน้ำมันดิบที่ยังมีความผันผวน โดยราคา LNG แพงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งขณะนี้ไทยนำเข้า LNG คิดเป็น 1 ใน 3 ของความต้องการและจะเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ประกอบกับจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและท่อก๊าซฯไม่ลงไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมารวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น จึงเป็นไปได้ยากที่ค่าไฟฟ้าตลอดอายุ 20 ปีจะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลคาดไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ