ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินเฟ้อปี 62 ชะลอลงมาที่ 0.8% จากคาด 1.1% ในปี 61 หลังราคาพลังงานถ่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2018 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 62 จะอยู่ที่ 0.8% (กรอบประมาณการที่ 0.5-1.2%) ชะลอลงจากปี 61 เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง มีน้ำหนักต่อเงินเฟ้อมากกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดและค่าสาธารณูปโภค

แม้ว่าในปี 62 มีการคาดการณ์ว่า จะเกิดภาวะภัยแล้ง ซึ่งน่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง ส่งผลให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าสาธารณูปโภคและค่าโดยสารสาธารณะที่จะปรับขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าใน 2 กลุ่มดังกล่าวน่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อขยับขึ้น 0.4%

อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงจากปี 61 ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะผ่อนแรงลงจากระดับ 70 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561 มาอยู่ที่ระดับ 68 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลในปี 2562 (กรอบประมาณการที่ 65-75 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล) จากแรงกดดันทางด้านปริมาณเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาพลังงานในประเทศจะเป็นปัจจัยถ่วงให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 62 ชะลอลงจากปี 61

ขณะที่ในปี 61 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 ไว้ที่ 1.1% เร่งขึ้นจากปี 60 ที่อยู่ที่0.7 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและค่าเช่าบ้าน ท่ามกลางการหดตัวของราคาอาหารสด เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก

โดยการขยายตัวของเงินเฟ้อในปีนี้ หลักๆ แล้วเป็นผลมาจาก การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (หนุนภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.61%) โดยเฉพาะราคาพลังงานในประเทศที่ส่วนหนึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แม้ กบง. จะมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก.

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน (หนุนภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.24%) โดยเฉพาะค่าที่พักอาศัย (ค่าเช่าบ้าน) ที่ปรับขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลต่อต้นทุนการประกอบการ และประกาศธุรกิจควบคุมให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (หนุนภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13) โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานภายในประเทศ และราคาเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม แต่ราคาอาหารสดกลับปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (หนุนภาพรวมเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07) ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในช่วงปลายปี 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ