"ไอทีดี" เผยค้าชายแดนสดใส คาดปี 62 โตเกิน 4% แนะรัฐหนุนผู้ประกอบการผลิตสินค้าตรงความต้องการปท.เพื่อนบ้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 20, 2018 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี คาดการณ์ภาวะการค้าชายแดนไทยในปี 62 ว่า น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4% จากความต้องการใช้สินค้าไทยที่มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเติบโตได้กว่า 10% หากรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชน และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในท้องถิ่นต่างๆ ผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ที่สำคัญ รัฐบาลจะต้องแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่ต้องทำแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดนให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ไอทีดีเห็นสัญญาณเชิงบวกที่ชี้ให้เห็นโอกาสการเติบโตอย่างชัดเจน สะท้อนจากตัวเลขการค้าชายแดนไทยช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.61 มีมูลค่ารวมกันกว่า 742,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 ทั้งการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งสวนทางกับการส่งออกไทยโดยรวมที่หดตัวลงถึง 0.16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 60

"ไทยมีความได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะ 4 ด้านหลัก คือ ภูมิศาสตร์ ความสะดวกของรูปแบบการค้าชายแดน คุณภาพสินค้าไทยเป็นที่นิยมอย่างสูง และรัฐบาลพยายามเพิ่มการอำนวยความสะดวก เช่น เพิ่มด่านการค้า ทำโครงการท่าเรือ เป็นต้น แต่ยังมีอุปสรรคอยู่อีกหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบ ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ หากรัฐบาลเร่งบูรณาการการทำงานให้เชื่อมโยงกัน กำหนดแผนการ แนวทางที่ชัดเจน ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาเซียนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เชื่อว่าการค้าชายแดนไทยจะเติบโตได้กว่า 10% แน่นอน" นายกมลินทร์ระบุ

ขณะที่ มูลค่าการค้าชายแดนไทยปีนี้มีมากกว่า 700,000 ล้านบาท หรือเติบโตได้กว่า 4% และเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่องมาโดยตลอด จากปัจจัยบวกคือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ทั้งมาเลเซีย, ลาว, เมียนมา และกัมพูชา ทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านี้มีความต้องการใช้สินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเกษตรต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ