รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ความยากจน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday December 22, 2018 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนนี้ (21 ธ.ค.) ว่า ในช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการพัฒนา เราสามารถก้าวข้ามประเทศรายได้ต่ำ ไปสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 เป็นต้นมา โดยทุกรัฐบาลได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ชนบท การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตดีขึ้นมาเป็นลำดับ ช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยของประชาชน และลดสัดส่วนคนยากจนลง อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผลดีจากการพัฒนายังไม่กระจายตัวไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง เรายังเห็นว่ามีการกระจุกตัวของการเติบโตในบางพื้นที่ หรือในบางกลุ่มเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ทั้งรายได้และความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียม รวมถึงการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สวัสดิการ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ยังเป็นปัญหาในบางพื้นที่ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ยังเห็นผลต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่เราได้เห็นเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนกลุ่มใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจอ่อนแรง เพราะมีรายได้ที่ลดลง

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และพยายามแก้ปัญหามาโดยลำดับ โดยมองว่าการลดความเหลื่อมล้ำ ต้องทำในทุกมิติ ต้องบูรณาการเพื่อแก้ปัญหา และต้องลงไปทำที่ต้นตอของสาเหตุ เพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยได้กำหนดไว้เป็น 1 ใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งกำหนดไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามกรอบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยขอสรุปเป็นกลุ่มมาตรการใน 2 รูปแบบ ก็คือ

รูปแบบแรก เป็นการจัดสรรสวัสดิการเพื่อประชาชนให้กลุ่มต่าง ๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงพี่น้องเกษตรกรรายได้น้อย และยังมีการให้ความช่วยเหลือพิเศษกับผู้ประสบปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประสบภัย และผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ โครงการจัดสรรที่ดินทำกิน โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่เด็กนักเรียน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น

อีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น โครงการลดค่าครองชีพของประชาชน โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ สวัสดิการเหล่านี้ของรัฐ ในปัจจุบันมีรวมกันมากกว่า 40 โครงการ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยตั้งแต่เกิด จนเสียชีวิต และการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ อีก 12 สวัสดิการ เพื่อจะช่วยเยียวยาให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านช่วงของความยากลำบาก โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สวัสดิการที่ได้กล่าวถึงเหล่านี้ ใช้งบประมาณรวมกันปีละ 5 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะต้องใช้เงินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ตามหลักธรรมาภิบาลและการรักษาวินัยการเงิน การคลัง ซึ่งรัฐบาลนี้ ก็ได้จัด ทำโครงการที่ชื่อว่า "สร้างสุขทุกช่วงวัย" ให้เป็นสวัสดิการแห่งรัฐที่จะช่วยยกระดับการให้บริการสวัสดิการกับพี่น้องประชาชนให้ทันสมัยขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการปฏิรูประบบราชการไทย โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการฐานข้อมูลสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ รวม 11 หน่วยงาน ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ รวมถึงติดตามประเมินผลการจัดสวัสดิการภาครัฐ นอกจากนี้ ยังจะใช้การนำระบบบริหารการจัดการข้อมูลแบบชี้เป้า (TPMAP) เพื่อให้รัฐบาลสามารถช่วยได้ถูกตัว ตรงไปยังคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ระบบข้อมูลในโครงการนี้ ยังจะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตสวัสดิการ และช่วยให้การใช้สวัสดิการภาครัฐโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไป กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะได้พัฒนาระบบออนไลน์ให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า เราได้รับสวัสดิการกี่อย่าง เราได้รับสวัสดิการครบถ้วน และมีการสวมสิทธิ์ของเราไปแล้วหรือไม่ และหลังจากนั้น สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ก็จะช่วยพัฒนาระบบ Application "สวัสดิการแห่งรัฐ สร้างสุขทุกช่วงวัย" เพื่อให้พี่น้องประชาชนรับทราบถึงสิทธิ และเป็น One Stop Service (OSS) ในการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนไม่พลาดสวัสดิการที่พึ่งได้ และได้รับความสะดวกสบายจากการติดต่อกับภาครัฐ

การทำงานแบบบูรณาการเพื่อต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำพร้อมกันในหลายมิติ ไม่เพียงแต่เรื่องสวัสดิการเท่านั้น ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้เรามีหน่วยงานหลัก ที่จะรวมพลังทุกหน่วยงาน บูรณาการในการขับเคลื่อน อย่างประสานสอดคล้อง ต่อสู้ ขจัดปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง โดยหน่วยงานนี้ จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงศึกษาและวิจัย เรื่องปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พัฒนาและติดตามเครื่องชี้วัด จัดทำฐานข้อมูล Big data เกี่ยวกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ให้บูรณาการกันทั้งหมด รวมทั้งช่วยสำนักงบประมาณในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปีล่าสุด นอกจากงบสวัสดิการ 5 แสนกว่าล้านบาทที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีงบประมาณประจำเพื่อแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยากจน ผ่านกระทรวงต่าง ๆ อีก 3 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งต้องใช้งบเหล่านี้ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศด้วย

พร้อมขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมีการมองภาพแบบครบถ้วนทุกมิติ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับปัญหา กำหนดนโยบายสาธารณะ หรือมาตรการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ขอให้ประชาชนรักษาสิทธิของตนในเรื่องสวัสดิการเหล่านี้ และขอให้ทุกท่านลองมองเส้นทางการหารายได้ในระยะยาวไปด้วย

ถ้าต้องการรายได้เพิ่มขึ้น แต่ละคนจะต้องปรับตัววันนี้อย่างไร ซึ่งบริการของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ก็จะช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจของท่านให้กว้างขึ้นได้ หากมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยเราต้องไม่ลืมลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ด้วยการจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ รายจ่าย ซึ่งก็นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญประจำบ้าน ที่จะช่วยในการพิจารณาให้สามารถใช้ชีวิตตามวิถีพอเพียงได้ วันนี้เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ปัญหาการขายฝาก วันนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ทั้งหมด ก็ขอให้ติดตามทุกช่องทางด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้กัน ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็อย่าสร้างหนี้ใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ