สบน. ยันยึดหลักสากลในการกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย ชี้เป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 11, 2019 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงกรณีที่มีการแสดงความกังวลเรื่องวินัยการคลังตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่มีการกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพีนั้นมีความหละหลวม ว่า การกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันสอดคล้องกับการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีดีในระดับสากล โดยการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่กระทรวงการคลังใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะตลอดมา และได้มีการทบทวนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล

การกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวของไทยในปัจจุบันสอดคล้องกับการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สัดส่วนนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่กระทรวงการคลังใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะตลอดมา โดยได้มีการทบทวนสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจและนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อรองรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นและพื้นที่ทางการคลังกรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ จากการประมาณการในระยะ 5 ปีข้างหน้า พบว่า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ยังคงอยู่ภายใต้เพดานร้อยละ 60

"ทางธนาคารโลกได้แนะนำมาว่าความเหมาะสมของสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ 60% ต่อจีดีพีเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว และหลายประเทศก็กำหนดสัดส่วนหนี้ไว้ที่ระดับดังกล่าว ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อ ๆ ไป ขณะที่สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลของไทยก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นคงทางการคลังในระดับสูง" นางจินดารัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งได้มีการกำหนดสัดส่วนทางการเงินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่กำหนดเป็นเพียงกรอบความยั่งยืนทางการคลังเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น และยังมีการกำหนดสัดส่วนทางการเงินอื่น ๆ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการคลังด้วย เช่น สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้, สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด รวมทั้งได้เพิ่มการวิเคราะห์สัดส่วนภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ธนาคารโลกแนะนำ เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบันและระยะปานกลาง

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการมีวินัยทางการคลังให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีประกาศเพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เงินต้น) ไว้ที่ 2.5 – 3.5% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบริหารหนี้สาธารณะของไทยที่ได้มีการกำหนดสัดส่วนดังกล่าวไว้ในกฎหมาย เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังและสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว

โดยในระยะปานกลาง (5 ปี) ได้มีการคาดการณ์สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งพบว่ายังอยู่ภายใต้เพดานที่ไม่เกิน 60% โดยในปีงบประมาณ 2562 สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 43.3% ต่อจีดีพี, ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 44.5% ต่อจีดีพี, ปี 2564 อยู่ที่ 46% ต่อจีดีพี, ปี 2562 อยู่ที่ 47.9% ต่อจีดีพี และปี 2566 ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัว 4% สัดส่วนหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 48.5% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการกู้เงินที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า จากเหหตุผลข้างต้นนี้ ระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 60% เป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รักษาวินัยทางการคลังและสามารถรองรับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ รวมทั้งกรอบการบริหารหนี้สาธารณะต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จะช่วยให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความคุ้มค่า ความสามารถในการชำระหนี้ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ