กทท.เซ็น MOU ดีป้า พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนำร่องเป็น Smart Port

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 11, 2019 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อส่งเสริมให้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ(Multimodal Transportation) ของการส่งออกและนำเข้า และให้การขนส่งทางเรือ รถไฟ รถบรรทุกมีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ แก้ปัญหาจราจร ลดมลภาวะ

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการท่าเรือฯได้ปรับปรุงกายภาพของทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและแก้ปัญหาการจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบและภายในเขตท่าเรือ เนื่องจากมีปริมาณรถบรรทุกเข้าสู่ท่าเรือจำนวนมาก โดยเฉพาะวันปลายสัปดาห์ เนื่องจากเรือจะออกจากท่า ทำให้เกิดการจราจรติดขัดที่มอเตอร์เวย์ ซึ่งเป็นเพราะการบริหารจัดการคิวและให้รถบรรทุกทยอยเข้ามาส่งตู้สินค้า แทนที่จะเข้ามาพร้อมๆกัน ในเวลาเดียวกัน

ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือฯ และกระทรวงดิจิทัลฯ โดยดีป้า ในการร่วมกันพัฒนาระบบร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการตู้สินค้า ซึ่งปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณ 7 ล้านทีอียูต่อปี โดยมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกเข้าไปยังท่าเรือประมาณ 4-5 ล้านทีอียู ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเพิ่มปริมาณตู้สินค้าเป็น 18 ล้านทีอียู/ปี ดังนั้นข้อมูลจะมีเพิ่มขึ้นมหาศาล และจะต้องเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ให้บริการผู้ใช้บริการ ศุลกากร สายเรือ เพื่อช่วยส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งอัจฉริยะ และการบริการของ ท่าเรือแหลมฉบังในด้านการขนส่ง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้ประสบความสำเร็จ โดย กทท. พร้อมผลักดันนโยบายการบริหารจัดการใช้งานจองคิวรถบรรทุกระบบ Truck Queuing อย่างเต็มรูปแบบ และให้มีการชำระค่าบริการผ่านระบบ Smart Port ปรับปรุงข้อมูลผู้ขนส่งที่ครบถ้วนให้เป็นปัจจุบันในระบบ Smart Port และร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Smart Port เพื่อสร้างการรับรู้ต่อไป

หลังจากนี้จะพัฒนาโครงการศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟแหลมฉบัง (SRTO) ซึ่งมีปริมาณขนส่ง 2 ล้านทีอียู/ปี จะทำให้ข้อมูลระหว่างท่าเรือ กับไอซีดีลาดกระบังเชื่อมโยงกันและสามารถจัดระบบการขนส่งตู้สินค้ามายังท่าเรือเพื่อขนลงเรือได้แบบไร้รอยต่ออีกด้วย

ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดีอีจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการให้บริการของท่าเรือ โดยจะพัฒนาให้เป็น Smart Port และขยายไปสู่ Smart City ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่รอบพื้นที่ท่าเรือ ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบการนำเข้า ส่งออก การขนส่ง มีประสิทธิภาพ โดยนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ให้สามารถลดเวลา เพิ่มความปลอดภัย เมื่อประสิทธิภาพเพิ่มผลพลอยได้อื่นๆ จะเกิดขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น Smart Port จะเป็นจุดเริ่มตัวของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในแบบประชารัฐ ในขณะที่จะมีการขยายไปที่ เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะครอบคลุม จังหวัดชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา

สำหรับโครงการการบริหารจัดการใช้งานจองคิวรถบรรทุกระบบ Truck Queuing อย่างเต็มรูปแบบ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยดีป้าและภาคเอกชนที่รวมตัวกันมา ลงทุนฝ่ายละ 50% โดยจะเป็นการทำระบบติดตาม เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนในการจัดคิว เพื่อทำ Solution Truck Queuing จัดระบบรถบรรทุกในการเข้าออกท่าเรือ โดยจะทยอยดำเนินการและเต็มรูปแบบภายใน 1 ปี

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบังได้นำระบบ Truck Queuing มาใช้ตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่ได้เป็นดิจิทัลเทคโนโลยีเต็มรูปแบบมากนัก ทำให้ยังมีปัญหาและไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ขนส่งมากนัก

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ ดีป้า กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ดีป้า ดำเนินโครงการ Smart Port Portal เป็นโครงการที่บูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นประตูหลักของพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และของประเทศ โดยให้บูรณาการข้อมูลการเข้าออกเรือ และรายการกำหนดการส่งออกนำเข้าของแต่ละตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อกำหนดระยะเวลาการเข้าออกของรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ลดปัญหาจราจร ปัญหามลภาวะ และลดปริมาณระหัวลากเที่ยวเปล่า ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่ำ 1,000 ล้านบาท/ปี และเกิดผลกระทบเชิงบวกทางสังคมอย่างต่ำ 700 ล้านบาท/ปี และเป็นโครงการในการใช้ดิจิทัลพัฒนาสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะเพื่อการขยายศักยภาพ EEC ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ