พาณิชย์ แนะนลท.ไทยขยายตลาดธุรกิจท่องเที่ยวใน สปป.ลาว หลังรัฐบาลให้การส่งเสริม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 22, 2019 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยานี ศรีมีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียงจันทน์ เปิดเผยว่า จากการที่กิจการด้านการท่องเที่ยวเป็นกิจการที่รัฐบาลลาว โดยกรมส่งเสริมการลงทุน กระทรวงแผนการและการลงทุนของสปป.ลาวให้การส่งเสริม ประกอบกับการที่รัฐบาลกำหนดให้ปี 2561 เป็นปีการท่องเที่ยวลาว มีการจัดโครงการ Visit Laos-China Year 2019 รวมทั้ง การจัดกิจกรรมต่างๆ ในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทย รวมทั้ง SME ภายในส่วนกลางและภูมิภาคที่จะเข้ามาลงทุนด้านที่พัก ร้านอาหาร สปา

จากรายงานของกรมการพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยว พบว่า สถิตินักท่องเที่ยวใน สปป.ลาวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้น 3% (จำนวน 2.9 ล้านคน) โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีขยายตัว ได้แก่ นักท่องเที่ยวกลุ่ม non- Asean ซึ่งเพิ่มขึ้น 31% จากจำนวน 582,000 คน เป็น 762,000 คน เป็นการขยายตัวจากนักท่องเที่ยวจากอเมริกา (9%) นักท่องเที่ยวแอฟริกาและตะวันออกกลาง (4%) จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวขึ้น

แขวงจำปาสักเป็นแขวงที่อยู่ทางตอนใต้สุดของสปป.ลาว มีด่านพรมแดนที่สำคัญเชื่อมติดกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ 1. ด่านพรมแดนช่องเม็ก อ. สิรินธร 2. จุดผ่อนปรนบ้านด่านเก่า อ.โขงเจียม 3. จุดผ่อนปรนบ้านหนองแสง (ช่องตาอู) อ.บุณฑริก และเป็นแขวงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 3 รองจากแขวงเวียงจันทน์ และแขวงสะหวันนะเขต โดยในปี 2560 แขวงจำปาสัก มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 8.12% โดยเป็นการขยายตัวด้านการบริการ 41% อุตสาหกรรม 35% และเกษตรกรรม 24% สินค้าส่งออกที่สำคัญของแขวง ได้แก่ ไม้กฤษณา ยางพารา กาแฟ ผลไม้ และปลาน้ำจืด สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมัน สารเคมี เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า ในส่วนของการค้าชายแดนพบว่าจุดผ่านแดนบ้านวังเต่า เมืองโพนทอง สปป.ลาว ตรงกับด่านพรมแดนช่องเม็ก อ. สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นจุดผ่านแดนด่านที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 4 รองจาก ด่านสะพานมิตรภาพ 1 นครหลวงเวียงจันทน์ ด่านสะพานมิตรภาพ 2 แขวงสะหวันนะเขต และด่านสะพานมิตรภาพ 3 แขวงคำม่วน

สำหรับการลงทุนที่สำคัญของแขวงจำปาสัก คือ การลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมปากเซ-ญี่ปุ่น SMEs พื้นที่ 195 เฮกตาร์ (มีบริษัทเข้ามาลงทุนแล้ว 6 บริษัท) การลงทุนในเขตอุตสาหกรรมจำปาสัก-ลาวบริการ พื้นที่ 800 เฮกตาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังมีเขตเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการศึกษาและสำรวจแนวทางการพัฒนา อีก 3 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภูเพียงบอละเวน พื้นที่ 6,500 เฮกตาร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสี่พันดอน (คอนพระเพ็ง) เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะด้านวังเต่า ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุมัติเนื่องจากแขวงจำปาสักอยู่บนพื้นที่ราบสูงบอละเวน ซึ่งมีระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร เหมาะกับการปลูกกาแฟ และพืช ผัก และผลไม้เมืองหนาว และมีน้ำตกที่มีชื่อเสียง เช่น น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำตกหลี่ผี น้ำตกตาดเยือน จึงมีนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนด้านการท่องเที่ยว (โรงแรม และ รีสอร์ต สนามกอล์ฟ) ไร่กาแฟ ธนาคาร ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจเช่ารถ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจากไทย ควรศึกษากฎหมายส่งเสริมการลงทุน ปี 2559 (ฉบับปรับปรุง) มาตรา 14 (ใหม่) นโยบายขยายการลงทุนและนโยบายด้านภาษีอื่นๆ มาตรา 16 (ปรับปรุง) นโยบายส่งเสริมด้านการใช้ที่ดิน และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ