ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEC เชื่อมโยงภาค ตต.-ตอ.ของอ่าวไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 22, 2019 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ในหลักการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร - ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช (การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) หรือ Southern Economic Coridor (SEC) ภายใต้กรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วยโครงการจำนวนรวม 116 โครงการ กรอบวงเงินปี 2562 – 2565 รวม 106,790 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการและขอรับการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาดังกล่าวต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้อนุมัติงบกลาง ปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วน (Quick – win) ที่ สศช. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรวม 5 โครงการ วงเงิน 448 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะพยาม จ.ระนอง ใช้งบประมาณ 132.8 ล้านบาท 2.โครงการป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก ใช้งบประมาณ 88.5 ล้านบาท 3.โครงการสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ใช้งบประมาณ 194.6 ล้านบาท 4.โครงเฝ้าระวังภาวะฉุกเฉิน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้มแข็งด้านบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ของเทศบาลเมืองชุมพร ใช้งบประมาณ 12.6 ล้านบาท และ 5.โครงการศึกษาการจัดตั้งศูนย์ความเชี่ยวชาญการวิจัยเชิงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ของ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าการพัฒนา SEC จะช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวขยายตัวได้เฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 5% ในช่วง 10 ปีแรกของการพัฒนา และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคนต่อปี มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีแรก

สำหรับผลทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์นั้น คาดว่า พื้นที่ SEC จะเป็นประตูเศรษฐกิจทางฝั่งตะวันตกของประเทศ มีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ และเชื่อมโยงกับ EEC ได้ ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ โดยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปเอเชียใต้ลงได้ครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่จะต้องขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือเชนไนของอินเดีย ใช้เวลา 9-15 วัน ซึ่งเมื่อมาใช้ท่าเรือระนองจะสามารถลดลงเหลือเพียง 4-7 วันเท่านั้น เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ