กพอ.เผยเอกชนเดินหน้าร่วมลงทุนใน 5 โครงการหลัก EEC ตามเป้าหมาย,โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเสนอครม.ในก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2019 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2562 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ 5 โครงการหลัก เอกชนเดินหน้าร่วมลงทุนตามเป้าหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมีความก้าวหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้

(1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. นี้ โดยอัยการจะตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จและเสนอ กพอ.อนุมัติผลการคัดเลือกภายในเดือน ก.พ. ก่อนนำเสนอ ครม.

(2) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการตอบคำถามผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือก และจะประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.พ. 62 โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 ก.พ. 62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในกลางเดือน เม.ย.62

(3) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F หลังจากการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 14 ม.ค. 62 มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอ 1 ราย และไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติ คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้วให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย รับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งในวันที่ 21 ม.ค. 62 โดยนำความคิดเห็นภาคเอกชนมาปรับปรุงเอกสารคัดเลือกให้เป็น International Bidding มากขึ้น และประกาศเชิญชวนเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 24 ม.ค. 62 ขายเอกสารคัดเลือกเอกชนฉบับแก้ไข 28 ม.ค. – 1 ก.พ. 62 โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอใหม่วันที่ 29 มี.ค. 62 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน เม.ย. 62

(4) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 สิ้นสุดการตอบคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 22 ม.ค. 62 ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 ก.พ. 62 คาดว่าจะประกาศผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน มี.ค. 62

(5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างให้เอกชนส่งคำถามผ่านอีเมล ถึงวันที่ 4 ก.พ. 62 และเปิดให้ตรวจสอบข้อมูลโครงการ ถึงวันที่ 1 ก.พ. 62 หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอจากบริษัท Airbus S.A.S. ในวันที่ 18 ก.พ. 62 และประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 62

ทั้งนี้ สกพอ. ร่วมกับกรมโยธาธิการ รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งได้ข้อสรุปเห็นด้วยกับแนวทางในการจัดทำแผนผังดังกล่าว โดยให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เพียงพอกับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและการแบ่งโซนพื้นที่ รวมทั้งกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น กรอบแนวคิดการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 8 ระบบ ตามที่กำหนดไว้ใน พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งประกอบด้วย

(1) ระบบสาธารณูปโภค (2) ระบบคมนาคมและขนส่ง (3) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (4) ระบบการ ตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม (5) ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ (6) ระบบบริหารจัดการน้ำ (7) ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ (8) ระบบป้องกันอุบัติภัย เน้นให้วางการพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ นโยบายภาครัฐ และความต้องการของภาคประชาชน ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการพัฒนาอีอีซีในอนาคต โดยแผนผังฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 62

สำหรับแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1. (ร่าง) แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดพื้นที่พัฒนาเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ กำหนดพื้นที่สงวนและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่สิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล นำไปสู่การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบาย Thailand 4.0 ได้อย่างยั่งยืน ประโยชน์ของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่เมือง พื้นที่ชนบท และพื้นที่โดยรอบด้วยหลักวิชาการออกแบบผังเมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน

2. (ร่าง) แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประกอบด้วย 5 ระบบ และ 1 มาตรการ ดังต่อไปนี้

2.1 ระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสาร ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะเพื่อวางแผนพัฒนาการให้บริการระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะที่สนับสนุนการพัฒนาและครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึงประโยชน์ของผังระบบทั้ง 3 ระบบ คือ ทำให้ประชาชนทราบจำนวนและตำแหน่งของระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีและสื่อสาร ระบบควบคุมและขจัดมลภาวะเดิมที่ต้องปรับปรุง และระบบใหม่ที่ต้องพัฒนาเพื่อพัฒนาให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ ในด้านการประปา ไฟฟ้า พลังงานทางเลือกในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับคุณภาพให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2.2 ระบบคมนาคมและขนส่งเพื่อส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเชื่อมโยงเชิงพื้นที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์ไปยังพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานชุมชน เศรษฐกิจ และทรัพยากรต่าง ๆ ประโยชน์ของผังระบบคมนาคมและขนส่ง คือ ทำให้ประชาชนและนักลงทุนได้ทราบถึงการเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่ง สามารถเดินทางอย่างสะดวกรวดเร็ว และรองรับการขยายตัวของประชากรในอนาคตและเกิดความมั่นใจในการพัฒนาพื้นที่ EEC ของภาครัฐ

2.3 ระบบเมือง การตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม เพื่อแสดงบริเวณที่ตั้งถิ่นฐาน ชุมชนดั้งเดิม ย่านชุมชนเก่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และกายภาพของพื้นที่สงวนรักษาและอนุรักษ์ชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ประโยชน์ของผังระบบเมือง การตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคมคือมีการดำเนินการเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสมรองรับการเคลื่อนย้ายการตั้งถิ่นฐานของประชากรในอนาคตมีการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม และการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

2.4 ระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนการบริหารและจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคให้เพียงพอต่อการรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต รวมไปถึงวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ประโยชน์ของผังระบบการบริหารจัดการน้ำ คือทำให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมของทรัพยากรน้ำ การป้องกันน้ำท่วมการเชื่อมต่อของพื้นที่รับน้ำ การจัดการน้ำเสีย เป็นต้น

2.5 ระบบป้องกันอุบัติภัย เพื่อเป็นการวางแผนหาแนวทางป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ให้สามารถวางแผนรับมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ประโยชน์ของผังระบบป้องกันอุบัติภัย คือ ทำให้ประชาชนทราบตำแหน่งศูนย์บริการรองรับอุบัติภัยสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งในชุมชนเมืองพื้นที่อุตสาหกรรม และพื้นที่ต่าง ๆ และทราบมาตรการในการดูแลระบบป้องกันอุบัติภัยของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

2.6 มาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการประโยชน์ของมาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คือการเตรียมการเชิงรุกสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ มีการมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพระบบอุตสาหกรรมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ลดการใช้พลังงานและการลดปล่อยของเสียสู่ระบบนิเวศ เพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบ

ส่วนการจัดทำแผน "ยกระดับ" สุขภาพประชาชนในพื้นที่อีอีซี การจัดทำแผนงานยกระดับการบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ได้รับความคุ้มครองด้านการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เสมอภาคกัน มีมาตรฐานและเพียงพอกับความต้องการ ในด้านการประกันสุขภาพสามารถจำแนกการมีสิทธิประกันสุขภาพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างน้อย 9 ประเภท คือ (1) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (2) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐประเภทอื่น ๆ (3) สิทธิประกันสังคม (4) สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) (5) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สถานะและสิทธิ (6) สิทธิประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ได้รับสิทธิประกันสังคม (7) สิทธิประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผัน (8) สิทธิประกันคุ้มครองเอกชน และ (9) สิทธิประกันสุขภาพนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูล และระบบการบริหารการประกันสุขภาพ ทั้งแรงงานต่างด้าว และนักท่องเที่ยว มีการส่งเสริมการร่วมลงทุน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน สามารถหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ และยังกระจายผู้ป่วยของโรงพยาบาลรัฐไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีโรงพยาบาลในระดับโรงเรียนแพทย์ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ปี 61 มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่า 6.7 แสนล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รายงานผลการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ดังนี้

(1) ในปี 2561 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวนทั้งสิ้น 422 โครงการ เงินลงทุนรวม 675,310 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75 ของการลงทุนทั้งหมด แบ่งเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา 74 โครงการ เงินลงทุน 60,800 ล้านบาท, จังหวัดชลบุรี 192 โครงการ เงินลงทุน 555,810 ล้านบาท, จังหวัดระยอง 156 โครงการ เงินลงทุน 58,700 ล้านบาท

(2) มีการขอรับการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่า 642,593 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมในอีอีซีทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) รวม 7,789 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด และมูลค่าการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-curve) มีมูลค่ารวม 634,795 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ส่วนมูลค่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ รวม 32,717 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ