วิจัยกสิกรฯ คาดตรุษจีนปี 62 เงินสะพัด 13,560 ลบ. เพิ่มขึ้น 0.9% คนกรุงระมัดระวังการใช้จ่าย เน้นประหยัดมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2019 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองต่อทิศทางกำลังซื้อที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่งมองว่ากำลังซื้อของตนเองไม่แตกต่างจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ร่วมกิจกรรมตรุษจีน เช่น ผู้ที่เซ่นไหว้ มีการจัดเตรียมสำรองค่าใช้จ่ายไว้แล้ว และส่วนใหญ่ก็ปรับลดงบประมาณในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเท่าที่จำเป็น ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านกำลังซื้อไม่มากนัก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางลงล่าง ซึ่งอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านกำลังซื้อ ก็อาจปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนกิจกรรมบางอย่างที่ทำได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่จะเน้นการประหยัด ทั้งการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ การแจกเงินแต๊ะเอีย รวมถึงการทำบุญ/ท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 13,560 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.9% โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มทางด้านค่าใช้จ่ายการทำบุญ/ท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องเซ่นไหว้ให้ภาพที่ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนเงินแต๊ะเอียมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างเด่นชัดกว่ากิจกรรมอื่นๆ

ด้านมุมมองต่อภาคธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรต้องเตรียมตัววางแผนโดยพิจารณาประเด็นที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ การวางแผนสต็อกที่ยืดหยุ่น จะช่วยบริหารสินค้าที่สัมพันธ์กับความต้องการ จากการที่ตรุษจีนปีนี้ผู้ตอบบางกลุ่มมีการปรับลดงบประมาณด้านเครื่องเซ่นไหว้ลง และอาจมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการสินค้า จึงอาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรพิจารณาวางแผนร่วมกับ Supplier ในการวางแผนการจัดส่งหรือสต็อกสินค้าที่มีความยืดหยุ่นพอเหมาะกับความต้องการ โดยอาจวางแผนทยอยส่งสินค้าทีละล็อต เพื่อทดสอบตลาดและพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณจัดส่งได้ทันทีหากความต้องการปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัจจัยเสริมจากมาตรการภาครัฐช่วยหนุนการใช้จ่าย แม้ว่ามุมมองด้านกำลังซื้อของประชาชนในกรุงเทพฯ จะไม่ค่อยสดใส แต่มุมมองทางด้านปัจจัยเสริมอื่นๆ กลับมีทิศทางในเชิงบวกโดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2562 ในวงเงินค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 60% เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นและสินค้ามีราคาถูกลง

ทั้งนี้การเร่งโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่สอดคล้องกับมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของภาครัฐอย่างเข้มข้น ให้เป็นกระแสเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มที่สนใจร่วมกิจกรรมได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์ดังกล่าว อาจเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการค้าปลีกควรนำมาพิจารณาประกอบการวางแผนการตลาดเพื่อสร้างความคึกคักในช่วงนี้

ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 50% คาดหวังว่าปัจจัยทางด้านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและกล้าใช้จ่ายมากขึ้น สำหรับปัจจัยทางด้านภาระดอกเบี้ยที่อาจมีแนวโน้มปรับขึ้น มีผลน้อยเนื่องจากเป็นภาระหนี้ระยะค่อนข้างยาวจึงไม่เห็นผลชัดเจนในทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ