(เพิ่มเติม1) สศค.คาดเศรษฐกิจปี 62 โต 4% ชะลอลงจาก 4.1% ในปี 61 ตามการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2019 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 จะเติบโตได้ 4% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 61 ที่เติบโตได้ 4.1%โดยการส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโตชะลอลงเหลือ 4.5% การนำเข้าเติบโต 5.4% ขณะที่ประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะเติบโตได้ 4.5% ส่วนการลงทุนภาครัฐเติบโตได้ 5.3% การบริโภคภาคเอกชนปีนี้ เติบโต 4.3% การบริโภคภาครัฐ เติบโต 2.3%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.9%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 62 มีแนวโน้มขยายตัว 4.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5% ได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 62 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังคาดว่าโครงการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ยังจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า และนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 62 จะอยู่ที่ 1.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5% ลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง

"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความผันผวนของตลาดการเงินโลกและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว" โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 61 สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนปี 61 ขยายตัว 4.5% การบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 2.0% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3.4% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.2%

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังช่วยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้จากประเทศต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าชะลอลงเล็กน้อย โดยการส่งออกในปี 61 เติบโตได้ 6.5% สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวถึงความชัดเจนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และมีผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนให้เติบโตได้กว่าปีก่อน รวมถึงแนวโน้มจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาตรการจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ หลังจากภาคการส่งออกมีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 15 ประเทศของไทยที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

พร้อมมองว่า การมีรัฐบาลใหม่จะมีผลในด้านจิตวิทยากับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นผลดีกับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่ง สศค. ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากกว่าปริมาณเม็ดเงินจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงสั้นเท่านั้น

"มองว่านโยบายและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนต่าง ๆ จะยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุดจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ทำให้จะมีอำนาจในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ จนสามารถส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ได้ในที่สุด" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว

สำหรับปัจจัยเรื่องปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น สศค. ยังมองสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ว่า ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากนัก และหากสถานการณ์มีความยืดเยื้อเกิดขึ้น ก็หวังว่าจะได้รับผลบวกจากเหตุการณ์ดังกล่าวในการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยมากขึ้น โดยในปี 2561 พบว่าภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประมาณ 0.13-0.14% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่าการค้า 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบหลัก ๆ คือ โซลาร์เซลล์ และเครื่องซักผ้า ซึ่งมีน้ำหนักกับภาคการส่งออกของไทยไม่มากนัก

นายลวรณ ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 คาดว่าจะเติบโตได้ไม่ดีเท่ากับช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากฐานในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ที่ขยายตัวได้ในระดับสูง โดยไตรมาส 1/2561 ขยายตัวได้ 4.9% และไตรมาส 2/2561 ขยายตัวได้ 4.6% ขณะที่ไตรมาส 4/2561 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.3% ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ยังได้รับปัจจัยบวกจากจิตวิทยาของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น จากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอย่างเรียบร้อย

"เศรษฐกิจปีนี้ มีโอกาสทั้งจะขยายตัวไม่ถึง 4% และได้มากกว่า 4% เพราะเพิ่งเริ่มต้นปี แต่ยอมรับว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจครึ่งปีแรกนี้ จะขยายตัวได้น้อยกว่าครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งมาจากฐานการขยายตัวเศรษฐกิจครึ่งปีแรกปี 2561 ขยายตัวได้สูง" นายลวรณ กล่าว

สำหรับในปี 2562 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด 4 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง 2. ผลกระทบจากการกีดกันการค้าหรือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศจีน 3. ความผันผวนตลาดเงินและตลาดทุนของโลก และ 4. การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยว่าจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ