(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ธ.ค..61 ขยายตัว 0.75%, ทั้งปีโต 2.8% จาก 2.5% ในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 29, 2019 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนธ.ค. 61 อยู่ที่ 112.54 ขยายตัว 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนี MPI ในปี 2561 ขยายตัว 2.8% จาก 2.5% ในปี 2560

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค.61 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การผลิตเติบโตได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการผลิตน้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร โซดาและน้ำดื่มบรรจุขวด กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาส 4/61 ขยายตัว 2.43% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปี 61 ขยายตัว 2.80% เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ขยายตัว 2.50%

สำหรับในเดือน ธ.ค.61 อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ MPI ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ ขยายตัว 9.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพ เครื่องยนต์ดีเซล รถยนต์นั่งขนาดกลาง และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน โดยเฉพาะรถยนต์ปิคอัพและเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงผู้ผลิตมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงปลายปีอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมยังคงเติบโตจากตลาดในประเทศ เพิ่มขึ้น 11.11%

ขณะที่น้ำตาลทราย ขยายตัว 30.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากโรงงานส่วนใหญ่เปิดหีบอ้อย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.61 และเพิ่มประสิทธิภาพการหีบทำให้ผลิตได้ดีขึ้น, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผ่นวงจร ขยายตัว 6.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ PCBA ที่มีความต้องการสินค้ามากขึ้นในตลาดโลก

ส่วนโซดาและน้ำดื่มบรรจุขวด ขยายตัว 14.43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม น้ำดื่มให้กำลังงาน น้ำชาและน้ำโซดา โดยมีสาเหตุจากการเร่งผลิตหลังขยายกำลังการผลิต การเร่งผลิตหลังจากเปิดไลน์การผลิตใหม่ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นตลาด

กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ ขยายตัว 189.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือที่ได้เร่งผลิตและส่งมอบเพื่อจำหน่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยปีนี้ลูกค้าสั่งผลิตกระเป๋าขนาดเล็กจำนวนมาก และเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเป็นหลัก เพิ่มขึ้น 685.59%

ขณะที่ภาวะอุตสาหกรรมสาขาสำคัญไตรมาส 4/61 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีการผลิตรถยนต์มีจำนวน 563,578 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.27% เป็นการจำหน่ายในประเทศมีจำนวน 295,155 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.62% และการส่งออกรถยนต์ 281,853 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.71%

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหาร ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 6.4% และ 0.2% ตามลำดับ เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เนื่องจากปีนี้เข้าสู่ฤดูการเปิดหีบอ้อยเร็วกว่าปีก่อน ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และปัจจัยบวกอย่างความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ อาทิ ทูน่ากระป๋อง ซาร์ดีนกระป๋อง ไก่แปรรูป ข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) และข้าวโพดหวานกระป๋อง แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มโตเต็มศักยภาพและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มชะลอลง และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาบ้าง รวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ