ภาวะตลาดเงินบาท: เย็นนี้ 31.22/24 เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าจากหลายปัจจัยกดดันดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2019 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.22/24 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจาก ช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 31.25/29 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่า โดยระหว่างวันเงินบาท high สุดที่ระดับ 31.29 บาท/ดอลลาร์ และ low สุดที่ระดับ 31.18 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทในช่วงนี้ยังมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง จากผลของดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับปัจจัยกดดัน ต่างๆ ทำให้ดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางอ่อนค่า ทั้งกรณีการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการเจรจาการค้า ระหว่างสหรัฐ และจีน

"ดอลลาร์โดนหลายปัจจัยกดดัน แต่ก็ยังมีโอกาสจะรีบาวด์ได้ เพราะหากเทียบกับปีก่อน ในช่วงต้นปีดอลลาร์ก็อยู่ในแนวๆ นี้ เพียงแต่รอบนี้ มีปัจจัยที่จะหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าน้อยกว่า" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.35 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 31.2400 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 108.72 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 108.88 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1492 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1483 ดอลลาร์/ยูโร
  • กระทรวงการคลัง รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 6,833,645.93 ล้านบาท หรือคิด
เป็น 41.80% ของ GDP โดยแบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 5,551,356.52 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 937,778.13 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็น
สถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 336,643.42 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,867.86 ล้านบาท
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนธ.ค.61 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภค
ภาคเอกชนขยายตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย แม้ชะลอลงบ้าง แต่เป็นผลของฐานสูงเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การ
ลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนนี้ขยายตัวดี ส่วนการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาค
รัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดที่ลดลง สำหรับ อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุใคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 6 ก.พ.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่
ระดับ 1.75% เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอลง แม้ภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสอดคล้องกับ
การเติบโตตามศักยภาพ แต่ต้องยอมรับว่าโมเมนตัมการการขยายตัวที่เริ่มแผ่วลงลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้
กนง.คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดอีกระยะ เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่คงจะมีความชัดเจนขึ้นในระยะข้าง
หน้า ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป
  • รายงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมรอบเดือนม.ค.62 บ่งชี้ว่า
กรรมการหลายคนของ BOJ ได้แสดงความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสที่จะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง
เป็นผลมาจากข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทั้งนี้การประชุม BOJ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ
2561-2563 ส่งผลให้การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้น ห่างไกลออกไป
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้

จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนม.ค.จากมาร์กิต และดัชนีภาคการผลิตเดือนม.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ

(ISM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ