(เพิ่มเติม) กนง.มีมติ 4:2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% มองแนวโน้มศก.โตต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพแม้ส่งออกยังเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 6, 2019 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับสูงขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินในระดับที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

ส่วนคณะกรรมการฯ อีก 2 ท่านเห็นว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% ภาวะการเงินโดยรวมจะยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินและสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงศักยภาพ แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ส่าหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการเบิกจ่ายจริงและกรอบวงเงินงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รวมถึงความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่าคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงานและอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ท่าให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

สำหรับภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และสกุลเงินในภูมิภาคในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ากว่าที่ควร (underpricing of risks) คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาจะช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์รวมทั้งทิศทางการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

กนง.ระบุอีกว่า มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศอาจชะลอลง คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า โดยจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ