(เพิ่มเติม) สรท.รับห่วงส่งออกปีนี้อาจโตไม่ถึงคาด 5% จากปัจจัยลบรอบด้าน-นัดหารือผู้ว่าธปท.4 มี.ค.ถกบาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 7, 2019 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าการส่งออกในปีนี้อาจเติบโตได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 5% เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ประกอบด้วย บรรยากาศการค้าโลกบนความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะมีการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 27-28 ก.พ. 62 รวมถึงการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษในกรณีของ Brexit และเหตุจลาจลในภาคพื้นยุโรป

นอกจากนั้น ยังมีความผันผวนของค่าเงิน และราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ส่วนของราคาน้ำมันที่มีความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตรประเทศผูค้าน้ำมัน และทิศทางการจัดการของ OPEC ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงและต้นทุนที่ต้องจัดการมากขึ้น ขณะที่รายได้ในรูปของเงินบาทลดลง

สำหรับมาตรการกีดกันการค้าจากต่างประเทศ อาทิ การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมของจีนที่ส่งผลต่อการนำเข้าการนำเข้ามันสำปะหลัง มาตรการใช้ผลิตภัณฑ์ Bio Plastic ของยุโรปกดดันผู้ส่งออกไทยต้องลงทุนนวัตกรรมเพิ่ม และความล่าช้าในการเจรจาการค้าเสรีและการต่อรองสิทธิพิเศษทางด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและไทย ในกรณีของฟิลิปปินส์ที่ได้สิทธิประโยชน์จาก EU GSP+ เวียดนามที่กำลังจะทำ FTA Vietnam-EU และข้อกฎหมายภายในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งออก รวมทั้งสิทธิ GSP ของไทยที่ถูกตัดสิทธิเพิ่มขึ้น

"สถานการณ์ส่งออกในปี 62 ยังคงต้องเตรียมรับมือการความผันผวนทางด้านราคาสินค้า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออก"น.ส.กัณญภัค กล่าว

ทั้งนี้ สรท.ได้นัดหมายที่จะเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 4 มี.ค.เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ หลังค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นมาอย่างมาก

"ไม่ได้คาดหวังว่า ธปท.จะมี Action อะไรกลับมา แค่อยากให้ ธปท.กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออก พร้อมมองว่า ธปท. ควรดูแลเรื่องต้นทุนของ Fx-Forward ให้มีการกำหนดราคากลาง รวมถึงการเจรจาหาเพิ่มประเทศที่สามารถใช้ Local Currency ได้"ประธาน สรท.กล่าว

ประธาน สรท. กล่าวว่า หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่ที่ 31 - 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ยาวนาน รวมทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนไม่มีทางออกที่ดี โอกาสที่ตัวเลขการส่งออกตลอดทั้งปีจะต่ำกว่า 5% เพราะหากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 5% ยอดส่งออกรายเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"เดือนมกราคมการส่งออกมีโอกาสที่จะไม่โต หรือโต 0% แต่หวังว่าจะไม่ติดลบ เพราะเดือนมกราคมปีก่อนมูลค่าการส่งออกได้ราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2561 ทำได้ในระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เรื่อยมา แต่พอมาเดือนธันวาคม 2561 การส่งออกมีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ"

สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดปี 2561 ที่โตเพียง 6.7% ไม่เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้เกือบ 8% แต่ก็ถือว่าไม่เลวร้ายและถือว่ารับได้ เนื่องจากปัจจัยหลักจะอยู่ที่ปัญหาความกังวลใจเกี่ยวกับสถานการณ์ตอบโต้กันไปมาของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้การส่งออกเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย

พร้อมกันนั้น สรท.ยังเตรียมข้อเสนอแนะสำคัญต่อรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย 1. Information Flow: รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศใน 5 ส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1) การเข้าสู่ตลาดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในฐานะผู้ส่งออกหรือผู้ขายแพลตฟอร์มฯ ควรช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ และสามารถช่วยควบคุมต้นทุนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ

2) การบริการที่สนับสนุนด้านการเงินและระบบการชำระเงินออนไลน์ แพลตฟอร์มฯ ควรกำหนดวิธีการชำระเงินระหว่างผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้ส่งออกหรือผู้ขายที่ครอบคลุม รวมถึงการให้บริการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น เงินทุนหมุนเวียน การประกันความเสี่ยงด้านการชำระเงิน เป็นต้น

3) การใช้บริการด้านโลจิสติกส์ แพลตฟอร์มควรสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้ากับระบบ National Single Window (NSW) ซึ่งเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนพิธีการศุลกากรและการขออนุญาตส่งออกทั้งหมด และช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมถึงแพลตฟอร์มฯ ควรเปิดให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถเข้ามาแข่งขัน เพื่อให้บริการบนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย ทำให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น

4) การเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มฯ แพลตฟอร์มกลางควรมีระบบหรือรูปแบบเพื่อรองรับการกำหนดเงื่อนไขในการต่อรองการค้าระหว่างประเทศ เช่น Incoterm สัญญาประกันภัยสินค้าขนส่งทางทะเล รวมถึงสัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มได้ทันที และ 5) การฝึกอบรมผู้ประกอบการ (Capacity Building) ที่ต้องการเข้ามาใช้บริการด้วยการเป็นสมาชิกบนแพลตฟอร์ม ให้มีความเข้าใจในการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มฯ และสามารถดำเนินกิจกรรมในองค์กรได้อย่างเหมาะสม

2. Physical Flow: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เป็นสิ่งสำคัญที่จะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับการขนส่งเข้าสู่ประตูการค้าสำคัญของประเทศ อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนี้ 1) เร่งรัดพัฒนาเส้นทางการขนส่งระบบรางทั่วประเทศ เร่งรัดการสัมปทานไอซีดีลาดกระบัง เร่งรัดโครงการสร้างท่าเรือบกในภูมิภาค พัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าในเส้นทางเข้าสู่ท่าเรือ เพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเอกชนผ่านระบบรางให้มากขึ้นและลดความแออัดในการขนส่งสินค้าทางถนนให้น้อยลง และ 2) เร่งรัดพัฒนาระบบการขนถ่ายสินค้าภายในท่าเรือแหลมฉบังให้ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ อาทิ โครงการ Single Rail Transport Operator (SRTO) เร่งรัดโครงการท่าเรือชายฝั่งในท่าเทียบเรือ A และเพิ่มสัดส่วนท่าเทียบเรือชายฝั่งในโครงการ Phase 3 เป็นต้น

3. Capital Flow: ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ต้องบริหารจัดการค่าเงินไม่ให้มีความผันผวนขึ้นลงมากเกินไป จนกระทบถึงต้นทุนการส่งออกโดยการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการหรือเครื่องมือประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น Fx-Forward / Option, FCD, Local Currency เป็นต้น อย่างไรก็ตามทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลเรื่องต้นทุนของ Fx-Forward ให้มีการกำหนดราคากลาง รวมถึงการเจรจาเพิ่มประเทศที่สามารถใช้ Local Currency ได้

4. Market Diversification: รัฐบาลและผู้ประกอบการควรจัดกิจกรรมและร่วมมือในการมองหาโอกาสและตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาสินค้าเพื่อรุกตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยและเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของ GDP สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยจัดทำแผนการตลาดรายสินค้าในแต่ละประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลและผู้ประกอบการควรจัดส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมในการขยายตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาสินค้าเพื่อรุกตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยและเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของ GDP สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยจัดทำแผนการตลาดรายสินค้าในแต่ละประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ