(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค.62 ที่ 93.8 จาก 93.2 ใน ธ.ค.61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2019 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือน ม.ค.62 อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.2 ในเดือน ธ.ค.61 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการใช้จ่ายทั้งจากการบริโภคภายในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคการผลิตโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีปริมาณการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 ลดลงจาก 105.9 ในเดือน ธ.ค.61 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า หากจำแนกตามขนาดของกิจการพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค.61

แต่หากจำแนกเป็นรายภูมิภาคพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.61 ขณะที่ภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค.61 และหากจำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มเน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.61 ขณะที่กลุ่มเน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือน ธ.ค.61

สำหรับในเดือนนี้ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1.ให้ภาครัฐเร่งเจรจาการค้าเสรี FTA เพื่อขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้า และ 2.ให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ