ผู้ว่าฯธปท. ระบุปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นหลักที่ดีในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2019 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "ประเทศไทยตามแนวพระราชดำริ" ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 สามารถนำมาใช้ตอบโจทย์ความท้าทายของระบบเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การนำมาประยุกต์ใช้ หากแต่สามารถนำมาเป็นหลักสำคัญของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะใน 3 แนวทางหลัก คือ 1.ความมีเหตุผล 2.ความพอประมาณ และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกัน

โดยเรื่องแรก "ความมีเหตุผล" การยึดหลักความมีเหตุผลและมีหลักการที่ชัดเจน จะช่วยทำให้สามารถจัดทำนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะในแต่ละนโยบายย่อมส่งทั้งผลดีและผลเสียต่อบุคคลบางกลุ่มแตกต่างกันไป เช่น เรื่องของดอกเบี้ย, อัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการดำเนินนโยบายท่ามกลางผลประโยชน์ที่สูงนั้น ความสมเหตุสมผลจึงเป็นสิ่งที่ต้องยึดเป็นที่ตั้ง ต้องคำนึงว่าเมื่อนำออกมาใช้แล้วคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มากกว่า

เรื่องที่สอง "ความพอประมาณ" มักมีคำถามจากผู้ทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาคว่า ศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้สอดคล้องกับศักยภาพแล้วหรือไม่ การทำนโยบายเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องไม่หยุดอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก แต่การทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนน่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะต้องยึดหลักความพอประมาณ คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยความยั่งยืนและมีเสถียรภาพ

"เศรษฐกิจก็เหมือนเครื่องยนต์ ถ้าเร่งมาก เครื่องร้อนมากก็จะ Overheat อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดได้ ไม่มีเศรษฐกิจประเทศไหนโตต่อเนื่องไม่หยุด ขึ้นไปแล้วก็ต้องมีชะลอลงบ้าง เพราะฉะนั้นต้องยึดความพอประมาณเป็นหลัก คิดว่าทำอย่างไรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เร่งเครื่องกันอย่างเดียว ต้องไม่สุดโต่ง...ถ้าเหยียบคันเร่ง อาจจะทำให้หนี้สูงขึ้น เศรษฐกิจแม้จะโตมาก แต่หนี้สูง สร้างปัญหาระยะยาว ทั้งหนี้ครัวเรือน และปัญหาความเหลื่อมล้ำ" นายวิรไทกล่าว

เรื่องที่สาม "การสร้างภูมิคุ้มกัน" ในโลกยุคใหม่ สิ่งที่ระบบเศรษฐกิจการเงินจะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ VUCA ที่หมายถึง ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากสถานการ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ตลอดจนกรณีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)

"พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ทำให้ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ และมีความสุข" นั้น สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาได้จริง และทำให้กลับไปมองว่านโยบายหรือแนวคิดที่เราทำออกมา ตอบโจทย์ของแต่ละคนได้จริงหรือไม่ เพราะปัญหาของแต่ละคน เมื่อรวมขึ้นมาจะเป็นปัญหาระดับประเทศ...นโยบายที่ทำให้เงินเต็มกระเป๋า อาจจะไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง แต่ต้องทำอย่างไรให้คนไทยมีความเจริญต่อเนื่อง และยั่งยืนในชีวิตของแต่ละคน นั่นคือการแก้ปัญหาในระดับ micro ต้องเข้าใจแต่ละคน แต่ละครอบครัว และต้องแก้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า การจะหวังให้นโยบายมหภาคช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ นโยบาย Quick Win อาจไม่ได้ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่มีความซับซ้อน และมีบริบทเฉพาะมาก การใช้นโยบาย พักหนี้ ลดหนี้ อาจทำได้เพียงการเยียวยาเท่านั้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง หากจะแก้ไขอย่างยั่งยืนต้องสร้างให้เกิดผลิตภาพ ทำให้คนไทยเก่งขึ้น แต่ยังทำงานเท่าเดิม โดยได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ