(เพิ่มเติม) กรมสรรพสามิต ปรับลดอัตราภาษีรถกระบะ-รถยนต์ไฟฟ้า หนุนลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง-สุขภาพปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2019 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสดศรี พงศ์อุทัย รองอธิบดีกรมสรรพสามิต รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติตามที่กรมสรรพสามิตเสนอปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการลดมลพิษ PM โดยสืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5-PM 10 เป็นวาระแห่งชาติ กรมฯ จึงได้มีการพิจารณาทบทวนอัตราภาษีซึ่งได้นำปัจจัยเรื่องการปล่อยมลพิษฝุ่น PM มาเป็นหลักการในการกำหนดอัตราภาษีควบคู่ไปกับหลักการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มีอยู่เดิม แต่เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหามลพิษจากท่อไอเสียที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ทั้งนี้ในปัจจุบันรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศต้องมีการทดสอบค่ามลพิษอ้างอิงมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งกำหนดให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยฝุ่น PM ได้ไม่เกิน 0.025 กรัมต่อกิโลเมตร

ดังนั้นการใช้มาตรการภาษีเพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐาน ยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ในปัจจุบันเป็นมาตรฐาน ยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยฝุ่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ใหม่ ย่อมจะส่งผลประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนที่คุ้มค่ากับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับเพื่อสนับสนุนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงเห็นควรลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากอัตราปัจจุบัน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next Generation Automotive) และไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสีย

สำหรับรายละเอียดการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) หากมีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร หรือรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทไบโอดีเซลไม่น้อยกว่า 20% เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ (B20) เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทน ในน้ำมันดีเซลส่งผลให้ปริมาณการปล่อยฝุ่น PM ลดลง อันจะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืชซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศ

2.ปรับลดอัตราภาษีรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากปัจจุบันอัตราภาษี 2% ให้ลดลงเหลืออัตรา 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2565 (รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ให้ใช้อัตราภาษี 2% ตามเดิม

โดยผลจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่น PM ตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีการลดฝุ่น PM ของรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ที่ชำระภาษีสรรพสามิตในแต่ละปีลดลงประมาณ 76 ล้านกรัมต่อปี และลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้กรมสรรพสามิตสูญเงินรายได้จากภาษีปีละ 1,000 ล้านบาท จากภาษีรถยนต์ที่เก็บได้ทั้งหมดปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมให้รถยนต์กระบะใช้น้ำมันฺ B20 คาดว่าผู้ประกอบการรถยนต์ในไทย 4 ค่ายใหญ่ สนใจที่จะปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้รถกระบะใช้น้ำมัน B20 ได้ภายในปีนี้ เพราะทำให้ราคารถยนต์ลดภาษีลดยนต์สรรพสามิตได้คันละประมาณ 1 หมื่นบาท

ขณะที่การผลิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (EV) จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มาลงทะเบียนผลิตรถยนต์ EV กับบีโอไอภายในวันที่ 31 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 13 ราย เชื่อว่าผู้ประกอบการจะเร่งขออนุมัติจากบีโอไอผลิตจรถยนต์ EV เร็ว เพราะทำให้ต้นทุนรถยนต์ลดลงคันละ 2-4 หมื่นบาท เทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ราคาอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท

"มาตรการนี้กรมฯ เชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่น PM ตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วขึ้น และจะส่งผลให้ลดฝุ่น PM ของรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู ที่ชำระภาษีสรรพสามิตในแต่ละปีลดลง 76 ล้านกรัมต่อปี และลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลด้วย" นายณัฐกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ