รายงาน กนง.ระบุ เศรษฐกิจไทยยังไม่แน่นอนจำเป็นใช้เครื่องมือเชิงนโยบายผสมผสานดูแลเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 3, 2019 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2562 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 โดย กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อรอประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น และเห็นว่าการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงต่อไปยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลด้วยการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลาย ทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม ควบคู่กับการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential)

"คณะกรรมการได้อภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเห็นว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ จำเป็นต้องรอให้ปัจจัยต่าง ๆ มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศปรับสูงขึ้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจึงยังมีความเหมาะสม สำหรับในระยะข้างหน้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ (data-dependent) โดยจะประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป"รายงาน กนง.ระบุ

รายงาน กนง.ระบุว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพ สอดคล้องกับการประเมินครั้งก่อน ตามแรงส่งด้านอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ การย้ายฐานการผลิตมายังไทย และแนวโน้มการลงทุน PPP ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ทั้งนี้ กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 และ 63 มีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพ แม้จะเติบโตชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมบ้างจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ขณะที่ยังมีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 62 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 4% และในปี 63 จะขยายตัว 3.9%

สำหรับโอกาสที่ประมาณการเศรษฐกิจจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอน อาทิ ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยรวมมีแนวโน้มชะลอลง เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักและเอเชียได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง รวมถึงปัจจัยเฉพาะของบางประเทศ เช่น ผลกระทบชั่วคราวจากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในยุโรป รวมทั้งความไม่แน่นอนจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการผลิตและการส่งออก

อย่างไรก็ดี กนง.มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวในระยะต่อไป โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการส่งออกของไทย, แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลง โดยเฉพาะจีนและยุโรปที่จะส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ และ ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในช่วงที่ยังรอความชัดเจนของทิศทางและแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่

ส่วนความเสี่ยงบางจุดอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคตได้ อาทิ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนคลายลงในช่วงก่อนหน้า รวมทั้ง พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และมีสัดส่วนสูงในตลาดตราสารหนี้และตลาดสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ และ ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ อุปทานคงค้างในบางพื้นที่ อุปสงค์จากต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์ไทย และการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แม้ธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อใหม่ให้เหมาะสมกับสถานะของผู้กู้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังระดมทุนผ่านสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

กนง.เห็นว่าการพิจารณาใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เหมาะสมยังจำเป็นสำหรับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน(macroprudential) และมาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน (microprudential) สามารถดูแลความเสี่ยง ได้ครอบคลุมเฉพาะประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีผลบังคับใช้เฉพาะสินเชื่อใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้ กรรมการ กนง.ส่วนใหญ่เห็นควรให้ติดตามผลของมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปและให้ศึกษามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพี่อป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งให้ติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามปัจจัยที่อาจกระทบราคาน้ำมันดิบในระยะต่อไปจากทั้งการคาดการณ์ราคาในตลาดการเงินและปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ OPEC รวมถึงปัจจัยที่อาจทำให้ราคาอาหารสดปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะภาวะภัยแล้งที่อาจรุนแรงขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ