ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปีนี้คนไทยเที่ยวตปท.ยังโตต่อเนื่องแตะ 10.55-10.75 ล้านคน หลังปัจจัยแวดล้อมเอื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2019 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศในปี 2562 นี้ จะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง น่าจะมีจำนวนประมาณ 10.55-10.75 ล้านคน เติบโต 5.4%-7.4% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน ของทุกปี จะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ และคาดว่าในเดือนเมษายน 2562 นี้ จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศประมาณ 970,000 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 8.2% (YoY)

ภายใต้สถานการณ์ที่เอื้อจากปัจจัยแวดล้อมของตลาด อาทิ การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจนำเที่ยวที่รุนแรง ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคามาเป็นตัวกระตุ้นตลาด ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวในบางประเทศราคาจึงถูกมองว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ ตลาดการท่องเที่ยวที่เปิดมากขึ้น ความหลากหลายของจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จากการเข้ามาทำตลาดการท่องเที่ยวขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ รวมทั้งธุรกิจสายการบินทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบมีการขยายเส้นทางการบินไปยังจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ๆ

และอานิสงส์การที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศถูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลให้เกิดความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นบนมือถือสมาร์ทโฟน ยังกลายเป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรจะเลือกใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม รวมถึงการนำฐานข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

สำหรับในด้านของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศนั้น คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 385,000-390,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5%-6.1% จากปีที่ผ่านมา

แม้ว่าการที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศอาจถูกมองว่าเป็นการนำเงินออกไปใช้จ่ายนอกประเทศ แต่ในห่วงโซ่ของตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศจะมีผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว สายการบินของไทย

นอกจากนี้ จากการที่จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นก็ก่อให้เกิดธุรกิจและบริการรูปแบบใหม่ๆ อาทิ สถาบันการเงินมีการให้บริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายในต่างประเทศ เช่น การใช้จ่ายผ่านระบบ QR Code ในการซื้อสินค้าที่ร้านค้าในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างธุรกิจการเช่าเสื้อกันหนาวและรองเท้าให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในปี 2562 นี้ นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ยังเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และประเทศที่ยังแรงต่อเนื่องของคนไทยยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่น

จากรายงานของ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น (JNTO) พบว่า ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมีจำนวนสูงถึง 1.13 ล้านคน และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 คนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนกว่า 2 แสนคน เติบโตถึง 21.7% (YoY) และมีอัตราของการเดินทางกลับไปท่องเที่ยวซ้ำที่สูงกว่าครึ่ง และคาดว่าในปี 2562 นี้ นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะมีจำนวน 1.24 ล้านคน

นอกจากนี้ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าจับตา เช่น เวียดนาม ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามเติบโตสูงถึง 36.9% (YoY) และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ซึ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ แผนการขยายเส้นทางการบินและจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศไทยไปยังเวียดนาม ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินน่าจะมีการทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวเวียดนามเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้การเดินทางไปท่องเที่ยวยังภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ในปี 2562 จะเป็นปีที่ตลาดไทยเที่ยวนอกยังเติบโต แต่เป็นปีที่ผู้ประกอบการคงจะเผชิญกับความท้าทายในการทำตลาดมากขึ้น อาทิ แนวโน้มของราคาน้ำมัน ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ณ วันที่ 11 เมษายน 2562 อยู่ที่ 69.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับขึ้นกว่า 22% เมื่อเทียบกับราคา ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการกำหนดทิศทางของราคาค่าโดยสารของสายการบิน รวมถึงราคาแพคเกจท่องเที่ยว ทำให้การทำโปรโมชั่นด้านราคาของผู้ประกอบการอาจจะทำได้ไม่ง่ายเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ทิศทางค่าเงินบาท ที่อาจจะมีความผันผวนระหว่างปีเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ