(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย.อยู่ที่ 79.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กังวลเสถียรภาพการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2019 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนเม.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 79.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.2 จาก 67.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 74.6 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 96.7 จาก 98.4 ในเดือนมี.ค. 62

สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญของเดือนเม.ย.62 ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 เหลือโต 3.8% จากเดิมที่คาดโต 4.0% หลังคาดว่าการส่งออกไทยปีนี้จะเหลือโตแค่ 3.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 4.5% ซึ่งเป็นผลจากทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

นอกจากนี้ ยังมีความกัวงลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคตที่อาจมีความไม่แน่นอนและขาดเสถียรภาพ, การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.62 มีมูลค่า 21,440 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.8% ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 1/2562 การส่งออกไทย ติดลบ 1.64%, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเริ่มคลี่คลาย หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจรจาร่วมกันและยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน, นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งในเดือนเม.ย.62 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 58 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค.57 โดยดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ 75.6 จากระดับ 80.5 ส่งผลให้ประชาชนระวัดระวังการจับจ่ายใช้สอยและชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพ.ค.ถึง มิ.ย.

ทั้งนี้ ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ส่งผลต่อดัชนีภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวลดลง ทำให้คนไม่กล้าซื้อรถยนต์คันใหม่ ซื้อบ้านหลังใหม่ หรือใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว มหาวิทยาหอการค้าไทย จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 3.2-3.3 % ส่วนมาตรการพยุงเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงิน ประมาณ 20,000 ล้านบาท อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจใน ไตรมาส 2 ประมาณ 0.3%

พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ 3.8% โดยพิจารณาจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ภายในวันที่ 8 พ.ค.นี้ และนำไปสู่การประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนมิถุนายนนี้

"ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลออกมาชัดเจน ก็อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นในเดือนพ.ค. เปลี่ยนไปในทิศทางที่ชี้ถึงอนาคต เพราะเม.ย.ความเชื่อมั่นขาลง พ.ค.จะมีการประกาศที่นั่ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ ทำให้คนมองมิติการเมืองที่ชัดเจนขึ้นว่า รัฐบาลจะถูกจัดตั้งโดยพรรคการเมืองใดบ้าง และแนวโน้มนายกรัฐมนตรี หรือสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเดือนพฤษภาคมจะเป็นตัวชี้ความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทั้งเศรษฐกิจและช่วงครึ่งปีหลัง" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเห็นหน้าตาของคณะรัฐมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และสังคมให้การยอมรับ รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เชื่อว่าจะส่งทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้เร็ว แต่หากการประกาศรายชื่อ ส.ส.อย่างเป็นทางการยังเกิดขึ้นไม่ได้ และไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ หรือมีการออกมาชุมนุมประท้วง จะส่งผลต่อกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเหลือเพียง 3.5% หรือต่ำกว่านั้นได้

ทั้งนี้ นายธนวรรธน์ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย โดยพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีมีถึง 95%

"กรอบรัฐธรรมนูญ โอกาสที่คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ 95% เพราะจะมีเสียง 375 เสียง คือ มันชัดด้วยจำนวน ส.ว.ที่มาผสม เพียงแต่ว่าจำนวนที่นั่งในสภา พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลผสมที่มี ส.ส.ในสภาเกิน 250 หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน อันนี้สะท้อนความมั่นคงและการทำงานของรัฐบาล และมันจะสะท้อนการลงทุนและการจับจ่ายใช้สอย เพราะเสถียรภาพรัฐบาลมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอย และการลงทุน ถ้ารัฐบาลเสียงปริ่มเกิน 250 ไม่มาก แต่ทำงานด้วยความเข้มแข้งและบริหารได้ ความเชื่อมั่นก็กลับมาได้" นายธนวรรธน์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ