กพท.เผยคะแนนมาตรฐานการบินของไทยเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งเป้าปลายปีปลด FAA ขยับเป็น Category 1

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2019 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13-22 พ.ค. 62 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจสอบยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM) ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องส่วนที่เหลือรวม 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ, ด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล, ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่, ด้านการปฏิบัติการบิน, ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน, ด้านบริการการเดินอากาศ และด้านสนามบิน

โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary) ของคณะผู้ตรวจสอบ Full ICVM พบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 65.07% ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือ 60% โดยทาง ICAO จะส่งรายงานสมบูรณ์ให้ภายใน 3 เดือนจึงจะทราบว่า ยังเหลือข้อบกพร่องอีกกี่ข้อซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่เร่งรัด เป็นข้อบกพร่องเล็กน้อย ซึ่งหากสามารถแก้ไขได้จะทำให้คะแนนมาตรฐานของประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนที่ ICAO ยังไม่ได้ตรวจสอบในครั้งนี้ คือด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน ซึ่ง กทพ.เตรียมพร้อมที่จะรับการตรวจแล้ว แต่เนื่องจาก ICAO มีข้อจำกัดด้านผู้ตรวจสอบ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีเหตุที่เป็นปัญหาด้านการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ในเชิงร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการออกใบรับรองสนามบินนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. จำนวน 6 แห่งได้รับใบรับรองแล้วเหลือสนามบินของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ การตรวจบริการทางอากาศ เช่น การพยากรณ์ทางอากาศ และ การบริการเดินอากาศ

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) ปรับลดระดับความปลอดภัยด้านการบินไทยลงจาก Category 1 มาที่ระดับ Category 2 ทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถทำการบินในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค.2558 นั้น นายจุฬา กล่าวว่า กทพ.อยู่ระหว่างหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (Inspector) ประมาณ 30 คน สำหรับตรวจนักบิน สำหรับเครื่องบินทุกรุ่น ซึ่งขณะนี้ยังขาดผู้ตรวจสอบนักบิน สำหรับเครื่องบิน ATR ซึ่งหายาก เนื่องจากเป็นเครื่องบินที่ใช้เพียงสายการบินเดียวคือ บางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งอาจจะจ้างนักบินต่างชาติเข้ามาช่วย

โดยหากจัดเตรียมบุคลากรด้านการตรวจสอบนักบินได้ครบและพร้อมในการตรวจรับรองการออกใบอนุญาตนักบินใหม่ประมาณ 3,000 คน จะแจ้ง FAA เข้ามาตรวจสอบ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะแก้ข้อบกพร่องเพื่อปรับระดับให้ประเทศไทยเป็น Category 1 ในปลายปี 62

"ประเด็นส่วนใหญ่ของ FAA จะซ้ำกับของ ICAO ซึ่งเมื่อ ICAO ยืนยันและปิดข้อบกพร่องเรื่องนั้นไปแล้ว เชื่อว่า FAA ไม่น่ามีปัญหา เหลือเรื่องนักบินเท่านั้น ซึ่งหาก FAA ปรับระดับให้ไทยขึ้น Category 1 จะทำให้สายการบินของไทยได้รับอนุญาตทำการบินเข้าประเทศสหรัฐฯได้ และจะทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้โดยสารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี แต่คาดการณ์ว่า ปัญหาความแออัดของสนามบินและการขยายขีดความสามารถที่ล่าช้า อาจจะทำให้การเติบโตของผู้โดยสารมีการชะลอตัวได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ "ผู้อำนวยการ กพท.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ