(เพิ่มเติม) กกร.เตรียมทบทวนประมาณการศก.หลังเห็นสัญญาณส่งออกหดตัวคาดประกาศ 2 ก.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 5, 2019 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะทบทวนและประเมินภาพเศรษฐกิจอีกครั้งก่อนประกาศตัวเลขประมาณการใหม่ในการประชุมครั้งไป คาดวันที่ 2 ก.ค. 62 เนื่องจากประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการค้าโลกมากขึ้นจนไม่สามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้

นอกจากนี้ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ยังต้องจับตาการจัดตั้งรัฐบาลและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ล่าช้าออกไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนก็เพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะขยายตัวชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้

ที่ประชุมกกร. จึงมีความเป็นห่วงและหวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศและการกระตุ้นจากภาครัฐก็จะสามารถป็นแรงส่งเศรษฐกิจในยามที่ภาคต่างประเทศประสบสถานการณ์ที่ยากลำบากได้

"เราจะประเมินอีกทีหลังจบไตรมาส ซึ่งจะประชุม กกร.ครั้งต่อไปวันที่ 2 ก.ค.ก็จะประกาศตัวเลขต่างๆ.... เห็นสัญญาณการส่งออกหดตัวลง ถ้าหดตัวลงไปอย่างเดียวก็คงจะเป็นลบแน่นอน แต่ถ้าตัวอื่น การลงทุนต่างๆ นักท่องเที่ยวยังมาก็ช่วยพยุงกันไป...แต่เฉพาะภาคส่งออกน่าจะลดลง ส่วน GDP เนื่องจากส่งอออกเป็นปัจจัยหลักเพราะฉะนั้นไม่น่าจะบวกขึ้นมา แต่ขอรอดูอีกสักนิดนึง" นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานการประชุม กกร. กล่าว

อนึ่ง ในการประชุมครั้งก่อน กกร.คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 3.7-4% ส่วนส่งออกขยายตัว 3-5%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า 4 เดือนแรก ส่งออก -1.9% และปัจจัยภายนอกยังมีปัญหาก็คงจะเพิ่มขึ้นลำบาก

พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่เร่งขับเคลื่อนงานต่อเนื่อง รวมทั้งมีมาตรการที่เป็นยาแรง เช่น มาตรการทางภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เช่น มาตรการอสังหาริมทรัพย์เพราะตอนนี้อสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซบเซาและแนวโน้มปีหน้าก็ไม่ค่อยดีเพราะมีเรื่องภาษีที่ดินเข้ามา ถ้ามีมาตรการเข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนมือ จะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่ม ผู้บริโภคเองก็สามารถตัดสินใจได้เร็ว

นอกจากนี้ภายในสิ้นเดือนมิ.ย.จะยื่นสมุดปกขาวให้รัฐบาลใหม่ เสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุม 6 เดือน/ครั้ง การประชุม Doing Business 3-4 เดือน/ครั้ง

"ระยะต่อไปทั้ง 3 สมาคมคงจะพูดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ระบบ การช่วย SME และเรื่องอื่นๆที่หลากหลาย ซึ่งจะได้นัดหมายนำไปยื่นให้นายกรัฐมนตรี รอรัฐบาลชุดใหม่ตั้งเสร็จ คิดว่าอย่างเร็วก็คงปลายเดือน วีคสุดท้ายของเดือนนี้" นายสุพันธุ์ กล่าว

ส่วนเรื่องมาตรการการลดหย่อนภาษี มองว่าเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะรัฐไม่ต้องใช้เงิน สามารถเรื่องลดหย่อนภาษีของภาคเอกชนให้ผู้ซื้อที่เสียภาษีถูกต้องได้ใช้ประโยชน์จะเป็นกำลังให้รัฐอีกทางหนึ่ง และจะดึงให้คนที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องมากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลก็ต้องกระตุ้นสินค้าเกษตร เช่น การแปรรูปโดยให้การสนับสนุนทางการเงินให้ SME ในการขับเคลื่อนการขยายตลาด

ส่วนมาตรการผลักดันราคาสินค้าเกษตร จะประกันรายได้หรือรับจำนำก็ได้แต่ขอให้ควบคุมดูแลและปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ