ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยธปท. ใช้มาตรการลดปริมาณพันธบัตรที่จะออกประมูลในเดือนก.ค.เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2019 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง ซึ่ง แม้จะไม่มีการประกาศโดยตรงว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท แต่คงต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2560) ธปท. เคยใช้การลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มาเป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้า และ/หรือลดแรงจูงใจไม่ ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นที่พักเงินในช่วงเวลาที่ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกมีความผันผวน เพราะเงินบาทมักถูกมอง ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ประกอบกับไทยมีการบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นดังกล่าว ยังเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มีแรงหนุนให้เงินบาทแตะระดับ ค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 1 ก.ค.62) ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความระมัดระวัง และรอติดตาม สัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ธปท. เตรียมที่จะออกมาตรการมาดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการ เงินของไทย (กนง.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา แสดงท่าทีที่เป็นกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์เงินบาท ซึ่งแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และเริ่ม ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ วงเงินประมูลพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. จะปรับลดลงในเดือนก.ค.62 ทั้งในส่วนของพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน พันธบัตรอายุ 6 เดือน และพันธบัตรอายุ 1 ปี โดยวงเงินการออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น 3 เดือน และพันธบัตรระยะ 6 เดือน ลดลง ประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ขณะที่วงเงินการออกพันธบัตรธปท. อายุ 1 ปี ลดลง 10,000 ล้านบาทในเดือนก.ค.62

วงเงินการออกพันธบัตรธปท.	   เม.ย.2562	     พ.ค.2562	    มิ.ย.2562	   ก.ค.2562	    หมายเหตุ

อายุ 3 เดือน	        40,000-45,000       40,000       40,000        35,000      ลดลง 5,000
                       ล้านบาท/สัปดาห์	  ล้านบาท/สัปดาห์   ล้านบาท/สัปดาห์  ล้านบาท/สัปดาห์  ล้านบาท/สัปดาห์

อายุ 6 เดือน	        40,000-45,000       45,000       45,000 	     40,000       ลดลง 5,000
                       ล้านบาท/สัปดาห์   ล้านบาท/สัปดาห์   ล้านบาท/สัปดาห์  ล้านบาท/สัปดาห์  ล้านบาท/สัปดาห์

อายุ 1 ปี                  40,000           40,000       45,000        35,000      ลดลง 10,000
                         ล้านบาท	      ล้านบาท	     ล้านบาท	     ล้านบาท	     ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มักจะเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ธปท. นำมาใช้เพื่อ ช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าผลสุทธิที่มีต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภาพรวมของนักลงทุน ต่างชาติ ยังคงขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงการปรับพอร์ตการลงทุนเข้าลงทุนใน พันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนเม.ย.60 ที่ ธปท.มีการลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 3 เดือน และระยะ 6 เดือน ลงประเภทละ 10,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งผลหลังจากนั้น ปรากฎว่านักลงทุนต่างชาติทยอยปรับเพิ่มการถือ ครองพันธบัตรระยะยาว แม้จะลดการถือครองพันธบัตรระยะสั้นลงก็ตาม

เมื่อมองไปข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ ยังเป็นเรื่อง การเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคาร กลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมไปถึงภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ

ในกรณีที่สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุการเจรจาในประเด็นทางการค้าระหว่างกันได้เป็นผลสำเร็จแล้ว แรงกดดันที่มีต่อแนว โน้มเศรษฐกิจและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก็อาจจะผ่อนคลายลงกว่าที่ตลาดมีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้เงินดอลลาร์ฯ สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วน แต่ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯ-จีนไม่สามารถหาข้อสรุปทางการค้าร่วมกันได้ ก็อาจ ทำให้โอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยประคองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งย่อมเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มแรงกด ดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มช่วงบวกการแข็งค่าในปีนี้ต่อเนื่อง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นแล้วในขณะนี้ถึง 6.5% นำสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

"ในเบื้องต้น มองว่า การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรธปท. ระยะสั้น อาจเป็นหนึ่งในการดำเนินการในชั้นแรกเพื่อดูแล ประเด็นค่าเงินบาท ขณะที่คาดว่า ธปท. น่าจะติดตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น และผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อ ประเมินความจำเป็นของการออกมาตรการที่มีความเหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า" ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ