ธปท.ไม่ปิดโอกาสลดดอกเบี้ยหากมีความเสี่ยงให้ ศก.โตไม่ได้ตามคาด แต่ยังเชื่อ GDP ปีนี้โตเข้าเป้า 3.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2019 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางนโยบายการเงินของธปท.ในปัจจุบันยังมองว่ายังไม่จำเป็นต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังน่าจะเติบโตในระดับ 3.3% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามคาดการณ์ในครั้งแรกที่ 4% ก็ตาม อีกทั้งยังไม่เห็นถึงความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็ยังไม่มีการปิดโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย หากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหลุดจากคาดการณ์ไปมาก และเกิดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็จะต้องใช้เครื่องมือที่เป็นนโยบายการเงิน เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ให้สามารถไปต่อได้

นอกจากนั้น ธปท.ยังต้องติดตามข้อมูลต่างๆ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศสำคัญ อย่าง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยอย่างไร

"โอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ยังมีอยู่ แต่โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็มีแต่มีโอกาสน้อยที่จะขึ้น เพราะดูจากปัจจัยต่างๆ แล้วก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และก็ต้องดูว่าถ้าปัจจัยเหล่านั้นมากระทบทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากหรือมีความเสี่ยงมากขึ้น ก็ต้องเอานโยบายการเงินมาช่วย หรือมีมาตรการออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม

แต่ตอนนี้ยังมองว่าภาพรวมที่เป็นแบบนี้ยังทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเราจะต่ำกว่าภูมิภาค แต่ก็ยังเห็นว่ากระแสเงินทุนยังไหลเข้าอยู่ เพราะนักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในเสถียรภาพและความแข็งแกร่งของประเทศไทย"นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวอีกว่า ธปท.มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 3% หรือขยายตัวได้เกือบ 4% ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรกที่คาดว่าขยายตัวต่ำกว่า 3% โดยปัจจัยหนุนมาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 61 เนื่องจากเป็นการขยายตัวจากฐานต่ำในปีก่อนที่ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยดีนัก ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้อย่างมีนัยสำคัญ

แต่ก็ยังมีปัจจัยที่กดดันอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคครัวเรือนที่ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากนัก หลังจากการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลง และเผชิญความเสี่ยงที่กระทบต่อความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจุบัน ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณการทยอยเลิกจ้างงานในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก หลังภาวะการส่งออกและการค้าโลกชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 61 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกต้องเลิกจ้างพนักงานออกไปบ้างเพื่อลดต้นทุน ส่งผลต่อความมั่นใจในด้านความมั่นคงของอาชีพ และกระทบไปถึงการจับจ่ายใช้สอยที่จะลดลงไป

ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังก็ยังเป็นทิศทางของการชะลอตัวเช่นเดียวกัน หลังจากที่แนวโน้มของการประกาศใช้งบประมาณปี 63 ของภาครัฐจะมีความล่าช้าออกไปอีก 4 เดือนตามที่กระทรวงการคลังระบุ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอนุมัติงบประมาณลงทุนใหม่ๆของภาครัฐ ซึ่งต้องรอจนกว่าพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 จะประกาศใช้ก่อน ทำให้ภาคเอกชนยังชะลอลงทุนจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ตามคาดการณ์ที่ 3.3% และ 3.7% ในปี 63 นายดอน ยังกล่าวถึงการปรับลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.ว่า ถือเป็นการชะลอการออกพันธบัตรของธปท.ออกไป หลังจากกระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออกมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำมาเป็นเครื่องมือชะลอการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาพักในตลาดเงินและตลาดทุนไทย เพื่อต้องการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมามาก

นายดอน มองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ส่งออกมากนัก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรในรูปเงินบาทที่มีโอกาสปรับตัวลดลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ