ธปท.แนะเกษตรกรปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางตามความต้องการของตลาด รับมือในยุคราคาผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 9, 2019 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สุตาภัทร ม่วงนา ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเสนอบทความ เรื่อง"สวนยางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยาง...ทางออกของเกษตรกรในยุคราคายางผันผวน" ระบุว่า เกษตรกรมีความคาดหวังต่อยางสูง โดยคาดว่าราคายางในอนาคตจะสูงขึ้นไปเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ดังเช่นในอดีต ทำให้ยางพาราเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูก และแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคายางพาราเองได้ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา ส่งผลให้รายได้ไม่แน่นอน ท้ายที่สุดแล้วเกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรชาวสวนยาง พบว่า การทำให้สวนยางไม่ได้มีแค่ยาง เป็นคำตอบที่ดีในการรับมือกับความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวน กล่าวคือ เกษตรกรต้องปรับตัวโดยการปลูกพืชชนิดอื่นแซมในสวนยาง เพื่อสร้างรายได้เสริมและใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยพืชที่สามารถปลูกในสวนยางได้มีหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะละกอ พืชสมุนไพร แต่เกษตรกรต้องคำนึงถึง ชนิดของพืชตามความเหมาะสมของดินแต่ละพื้นที่และพืชที่เลือกปลูกสามารถอยู่ร่วมกับยางอายุเท่าไหร่ เนื่องจากคุณลักษณะพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้เฉพาะยางที่อายุไม่เกิน 3 ปี บางชนิดปลูกร่วมกับยางได้ถึงอายุ 10 ปี, ความรู้เกี่ยวกับพืชที่จะปลูก ทั้งในด้านการเพาะปลูก ดูแลรักษา เก็บเกี่ยว ขยายพันธุ์ และอื่น ๆ เนื่องจากความรู้เหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนในการลองผิดลองถูก และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากตัวเกษตรกรเอง, ควรทดลองปลูกพืชในแปลงขนาดเล็กก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าพืชชนิดนั้น ๆ สามารถเติบโตได้ในพื้นที่ของเรา และเป็นต้นแบบสำหรับการคำนวณผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการเพาะปลูก และเมื่อทดลองในแปลงขนาดเล็กสำเร็จค่อยขยายผลไปสู่แปลงขนาดใหญ่ โดยปรับลดพื้นที่ปลูกยางบางส่วนเพื่อปลูกพืชดังกล่าว การทำเช่นนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว

"การทำสวนยางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ยาง เกษตรกรต้องเลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชนั้น ๆ ทำการทดลองปลูกก่อนขยายผล และหากทำให้พืชของตนเป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรย่อมสามารถรับมือกับความผันผวนของราคายางได้" น.ส.สุตาภัทร ระบุในบทความ

โดยหากต้องการขายสินค้าในราคาตลาด ต้องทำให้ตลาดรู้จักเรา โดย (1) ปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ผลไม้ตามตัวอย่างข้างต้น หรือผักอินทรีย์ ซึ่งยังมีความต้องการสูง ทำให้หาช่องทางการขายได้ง่าย (2) ปลูกพืชให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน สิ่งนี้จะช่วยยกระดับผลผลิตให้เป็นที่รู้จัก ขายได้ในราคาสูงกว่าราคาตลาด ทำตลาดง่ายขึ้น และมีช่องทางการตลาดหลากหลาย (3) การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำสัญญาซื้อขายกับร้านค้าชั้นนำหรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เป็นการทำตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบัน เนื่องจากการรวมกลุ่มจะทำให้มีสินค้ามากพอต่อความต้องการของร้านค้า และเมื่อการทำสัญญามีกำหนดเวลาแน่นอน ทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตได้และลดปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรในที่สุด จะเห็นได้ว่า หากเกษตรกรสามารถทำข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นได้ จะมีกลุ่มลูกค้าและช่องทางในการขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ