สภาพัฒน์ เผยครม.รับทราบ 11 แผนปฎิบัติการของหน่วยราชการในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 11, 2019 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค.62 ได้รับทราบร่างแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในระดับแผนปฎิบัติราชการของส่วนราชการ (แผนระดับที่ 3) แล้ว 11 แผน จากจำนวนทั้งสิ้น 69 แผน จาก 24 กระทรวง/หน่วยงาน ประกอบด้วย

1. ร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) คณะกรรมการสภาพัฒน์ มีมติว่าร่างแผนฯดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมีความเห็นให้หน่วยงานพิจารณาจัดทำร่างแผนฯ อาทิ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกำหนดตัวชี้วัดและกลไกการขับเคลื่อน

2. แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ.2561-2564) (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย) สำนักงานฯ พิจารณาเห็นควรให้ความเห็นชอบแผนฯ และมีข้อสังเกตให้หน่วยงานประกอบการขับเคลื่อนแผนฯ อาทิ การกำหนดกลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางท้องถนนร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและส่วนท้องถิ่น พิจารณากำหนดมอบหมายให้มีหน่วยงานหลักที่ชัดเจน พร้อมทั้งพิจารณากำหนดตัวชี้วัดร่วมไว้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทฯ ด้วย

3. แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (กระทรวงคมนาคม) โดยสำนักงานฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าแผนฯ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาภาคใต้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดของโครงการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. ร่างแผนการให้ความรู้พื้นฐานทางการเงิน (พ.ศ.2561-2564) (กระทรวงการคลัง) คณะกรรมการฯ มีมติให้หน่วยงานรับข้อสังเกตและความเห็นไปพิจารณา ปรับปรุง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

5. ยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย (พ.ศ. 2558-2564) (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย (พ.ศ.2558-2562) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ต่อมาคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของแผนยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย เป็นปี พ.ศ. 2558-2564

6. ร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) สำนักงานฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่าร่างนโยบายฯ มีความสำคัญในการกำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ

7. ยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ และ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5-10 ปี) (กระทรวงสาธารณสุข) คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์และการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม มีมติเห็นว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับใช้เป็นกรอบทิศทางการบูรณาการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ของประเทศ ในภาพรวมให้มีความเป็นเอกภาพและมีการจัดสรรทรพยากรสาธารณสุขร่วมกันในแต่ละพื้นที่

8. ร่างแผนพัฒนางานสวัสดิการสังคมไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2565) (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์และการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม มีมติเห็นชอบในหลักการ

นอกจากนี้ ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ควรเพิ่มเติมแนวทางการจัดสวัสดิการในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย ควรมีมาตรการจูงใจให้ภาคประชาสังคม ภาคประชารัฐ ภาคธุรกิจเอกชน เข้ามาร่วมสนับสนุนงบประมาณในการจัดสวัสดิการสังคม อีกทั้งควรทบทวนการยกระดับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระที่มีกฎหมายรองรับ โดยควรสนับสนุนให้องคักรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกลไกบริหารจัดการในระดับพื้นที่ สามารถดำเนินการแทนการจัดดั้งหน่วยงานใหม่ และควรปรับกรอบระยะเวลาของร่างแผนฯ จาก พ.ศ. 2560-2565 เป็น "พ.ศ.2561-2565" เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

9. แผนพัฒนาศักยภาพกำลังคนภาครัฐให้พร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) คณะอนุกรรมการด้านพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์และการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม มีมติเห็นชอบในหลักการ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ควรมุ่งเน้นการเพิ่มทักษะที่เป็นช่องว่างในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนภาครัฐเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (2) ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบมาตรการที่เป็นการเพิ่มและเสริมทักษะใหม่ ควรพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบการจ้างงานผู้เกษียณอายุให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่ระบุถึงทักษะ ความเชี่ยวชาญ ของแต่ละบุคคลอย่างเป็นระบบ (3) ควรกำหนดให้มีกลไกการใช้ประโยชน์ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ อาทิ การจัดตั้งสถาบันเพื่อเป็นศูนย์กลางการนำความรู้และประสบการณ์ของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุและผู้ที่เกษียณอายุแล้วเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน

10. ร่างแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (กระทรวงสาธารณสุข) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอและให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นและข้อสังเกดของสำนักงานฯ เพิ่มเติม

11. แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) คณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นควรให้ความเห็นชอบแผนฯ โดยมีข้อสังเกตและความเห็นเพิ่มเติม อาทิ ประเด็นการกระจายเชี้อเพลิง การสร้างความเข้าใจกับประชาชน การเร่งรัดพัฒนากฎระเบียบให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ