ท่องเที่ยวอ่อนแรง...เผชิญโจทย์ท้าทายรอรัฐบาลใหม่ยกเครื่องฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2019 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถือเป็นเฟืองจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 20% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดี จะทรุด โลกจะปั่นป่วนแค่ไหน การท่องเที่ยวก็ยังมีทางไป เพียงแต่ต้องจับจุดให้ได้ว่าตลาดที่มีศักยภาพในแต่ละช่วงคือตลาดประเภทไหน ตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ Inbound หรือ Outbound หรือบางครั้งก็ต้องลงลึกไปที่นักท่องเที่ยวแต่ละประเภท แต่ละสัญชาติ

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวนจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยมีแนวโน้มลดลงไปบ้าง เพราะต้องใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท แต่คาดว่าภาพรวมการท่องเที่ยวไทยจะยังเป็นไปด้วยดี หากมีการบริหารจัดการและทำการตลาดที่ดี

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยยังมีความท้าทายอยู่ทั้งด้านอุปสงค์ อาทิ การกระจุกตัวของแหล่งท่องเที่ยว การดูแลเรื่องความปลอดภัย ด้านอุปทาน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการคมนาขนส่งของไทยยังไม่เอื้อต่อการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น, งบประมาณที่จะสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

อนึ่ง ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.–มิ.ย.) นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 19.6 ล้านคน ขยายตัว 0.7% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัว 0.3% แม้จะมีปัจจัยค่าเงินกดดันจนอาจกระทบแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยว แต่ในโอกาสที่กำลังจะเข้าสู่ High Season ประกอบกับประเทศไทยมีการขยายอายุมาตรการ Free VISA on Arrival ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.62 อาจจะยังพอเป็นจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ดังนั้น ต้องรีบวางแผนบริหารจัดการให้ดี เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจประเทศไทยและอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง

สำหรับในครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะบวกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังปี 62 อาจจะอยู่ที่ราว 20.1 ล้านคน เทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะมีจำนวน 19.7 ล้านคน

ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังเฝ้าจับตาดูสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เพราะการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงความกังวลและความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยา แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาในช่วงครึ่งปีแรก อัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา เข้าสู่ฤดูกาล Low Season

ดังนั้น โจทย์ที่ท้าทายของภาคการท่องเที่ยว คือ การวางแผนเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องของการตลาด สาธารณูปโภคอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย เพราะจากที่ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศของโลกชะลอลงทำให้หลายประเทศต่างหันมาใช้ภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้ความอำนวยความสะดวกในมาตรการด้านการท่องเที่ยวเพื่อแข่งขันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้เตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ขอให้ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้มีการศึกษาศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนและทุกจังหวัด, ขยายเวลาคืนภาษีและเพิ่มจุดคืนภาษีในเมืองให้นักท่องเที่ยว

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองหลักควบคู่กับเมืองรองมากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ พัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง, เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลการเดินทางให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง มีความสะดวกและมีมาตรฐาน, ควรดำเนินการแก้ไขในระยะยาวในหลายด้าน ทั้งด้านของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ควบคุมปริมาณการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสร้างผลประโยชน์ด้านภาษีแก่สถานประกอบการที่มีการดำเนินการเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม, เดินหน้าสร้างมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น

และโอกาสที่กำลังจะเข้าสู่ High Season ประกอบกับประเทศไทยมีการขยายอายุมาตรการ Free VISA on Arrival หรือ VoA ออกไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 62 เชื่อได้ว่านักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทยอีกจำนวนมาก ดังนั้น ต้องรีบวางแผนบริหารจัดการให้ดี เตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจประเทศไทยและอยากกลับมาเยือนอีกครั้ง

อีกทั้งปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ยิ่งต้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาปรับใช้เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักท่องเที่ยวไม่เฉพาะจีน แต่รวมถึงชาติต่างๆ ด้วย

เพราะนักท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยมีความใกล้เคียงพอๆ กันกับตลาดจีน แล้วยังเป็นตลาดระยะใกล้ที่เดินทางสะดวก และสามารถเพิ่มความถี่ใน การเดินทางท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้นด้วยจะได้ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวประเทศใหญ่ๆ ตลาดเดิมๆ ที่พอใครมีปัญหากันก็กระทบเราทุกครั้งไป

คงต้องฝากรัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่ "พิพัฒน์ รัชกิจประการ" ซึ่งมาจากพรรคภูมิใจไทยที่ชูนโยบาย "บุรีรัมย์โมเดล" คือ ตัวอย่างของความสำเร็จที่ทำให้บุรีรัมย์เปลี่ยนจากจังหวัดที่ไม่มีอะไรมาเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวถึง 3 ล้านคนมาแล้ว และโมเดลที่ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยตนเองจะกลายเป็นกุญแจที่นำไปสู่การพัฒนาทุกพื้นที่ของประเทศไทยให้มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวได้

"บุรีรัมย์โมเดล" นำความคิดสร้างสรรค์ หาจุดเด่นในการพัฒนาเมือง อย่างเช่นจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำให้เป็นเมืองกีฬาและการท่องเที่ยวที่โด่งดัง เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน และเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ซึ่งพรรคมีบุคลากร ที่เคยทำงานจนทุกคนเห็นแล้วว่าเกิดความประสบความสำเร็จมาแล้ว และจะนำแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบนี้ไปเผยแพร่ในจังหวัด อื่นๆ ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ "พรรคภูมิใจไทย" ยังสนับสนุนปลดล็อคกฎหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ การขับ Grab ถูกกฎหมาย แก้กฎหมายขนส่งที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการนำทรัพย์สินส่วนตัวของประชาชน เช่น รถส่วนตัวมาใช้ทำมาหากินอย่างสุจริต การสร้างรายได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สามารถจับคู่ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการด้วยความรวดเร็วทันเวลาส่งผลให้เป็นการส่งเสริมและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศไทยเป็นไปได้โดยรวดเร็วปลอดภัยและเป็นธรรม เกิดการทำธุรกิจการประกอบอาชีพสร้างงานสร้างรายได้มากที่สุด โดยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการนำทรัพย์สินส่วนตัวของประชาชนมาใช้ทำมาหากินอย่างสุจริต

รวมทั้งการปลดล็อคโฮมสเตย์ และจะส่งเสริมนโยบายปลูกกัญชาเสรีเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และสร้างวันกัญชา ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ