รมว.พลังงาน สั่งกฟผ.-ปตท.-กกพ.ทำแผนตอบโจทย์ผู้นำก๊าซฯภูมิภาคในสัปดาห์หน้า ก่อนสรุปกรณีนำเข้า LNG กฟผ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2019 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในวันนี้ ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ,บมจ.ปตท. (PTT) และกฟผ. กลับไปสรุปแนวทางดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม และไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต หลังจากนั้นให้จัดทำรายละเอียดมารายงานวิธีการปฏิบัติให้ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ได้วางเป้าหมายหลักที่จะต้องตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ ในการเป็นผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติของภูมิภาค หรือการเป็น HUB ในธุรกิจ LNG เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในอนาคต ไม่ใช่เรื่องของการนำเข้า หรือ ไม่นำเข้า LNG ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจากโครงสร้างธุรกิจก๊าซฯในปัจจุบันจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้ โดยขอให้ทุกฝ่ายถอยความเป็นองค์กรลง ทั้ง ปตท. และ กฟผ. แล้วมาหารือแนวทางร่วมกันต่อไป

อนึ่ง กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG เพื่อนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเองในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา กฟผ. ได้คัดเลือกบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ.ปริมาณ 1.2 ล้านตัน/ปี จากผู้ยื่นข้อเสนอแข่งขันด้านราคาจำนวน 12 ราย

ขณะที่กฟผ.มีแผนจะนำเข้า LNG ล็อตแรกในเดือนก.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าที่ชนะการประมูลได้ เพราะติดปัญหาหากเกิดกรณี Take-or-Pay ซึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถรับก๊าซฯได้ครบตามปริมาณขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่จะต้องชำระค่าก๊าซฯในส่วนที่ไม่ได้รับด้วย เนื่องจากรัฐบาลมีความกังวลต่อปริมาณการนำเข้า LNG ในช่วงปี 62-63 ที่อาจจะมากเกินไปเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ก๊าซฯที่มีอยู่จริง

สำหรับความต้องการใช้ก๊าซฯในเดือน ม.ค.-ก.ค.62 อยู่ที่ 4,872 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขยายตัว 2-3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นก๊าซฯจากอ่าวไทย 66% ,เมียนมา 16% การนำเข้า LNG ของปตท. 6% เป็นต้น ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,890 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขยายตัว 6-7% เนื่องจากโครงการผลิตไฟฟ้า เซเปียนเซน้ำน้อย สปป.ลาว เข้าระบบล่าช้ากว่าแผนงาน ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะมีปัญหาบางช่วงทำให้ กฟผ.สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯทดแทน

ด้านนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของ PTT กล่าวว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ แม้จะยังคงขยายตัวอยู่แต่ก็ไม่สูงมากนัก เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โซลาร์รูฟท็อป ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งออกสินค้าของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ส่งผลให้การใช้ก๊าซฯไม่ได้เติบโตเช่นในอดีต ซึ่งหากไม่ต้องการให้เกิดกรณี Take-or-Pay การนำเข้า LNG ของ กฟผ.ก็น่าจะเกิดขึ้นในปี 65 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ